การแข่งขันด้วยสงครามราคาของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ค่อนข้างรุนแรง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้กำลังซื้อชะลอจนเกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดรถ EV โดยจากตัวเลขยอดขายตลาด EV เดือน ก.ย. ลดลง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ดังนั้นผู้ผลิตรถ EV หลายรายได้ปรับลดเป้าหมายการผลิตลงให้เหมาะสมกับสภาพตลาดและความต้องการในปัจจุบัน ที่ลดลงจนอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
โดยปีนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดยอดจดทะเบียนรถ EV ใหม่อาจใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 7.6 หมื่นคัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1 แสนคัน โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.67) มียอดจดทะเบียนใหม่ 75,653 คัน เพิ่มขึ้น 11.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ตลาดยังมีความต้องการซื้อรถ EV ต่อเนื่อง แต่แนวโน้มชะลอตัวลงจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และเกิดความลังเลว่าจะมีการปรับลดราคาอีกหรือไม่ ขณะที่ยอดขายรถ EV ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศตามโครงการ EV3.0 และ EV3.5 ของบอร์ดอีวี ซึ่งหลังจากสิ้นสุดโครงการแล้ว สัดส่วนรถนำเข้าจะลดลง” นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกฯ กล่าว
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวเสริมว่า ตลาดรถ EV ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ช่วงเพิ่งเกิดใหม่จึงเกิดการสะดุดจากองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความพร้อม จนบั่นทอนความน่าเชื่อถือลงไป เช่น ชิ้นส่วนไม่เพียงพอ แบตเตอรี่มีราคาแพง สถานีชาร์จยังไม่เพียงพอ เป็นต้น ซึ่ง ส.อ.ท.ได้เสนอแผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนต่อรัฐบาล ซึ่งได้รับความเห็นชอบแล้ว
ตามแผนขับเคลื่อนฯ ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2573 จะมียอดผลิตรถยนต์ใหม่ทุกชนิดรวม 2.5 ล้านคัน โดยมีสัดส่วนเป็นรถยนต์สันดาป 70% หรือ 1.75 ล้านคัน และเป็นรถอีวี 30% หรือ 7.5 แสนคัน ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (LT-LEDS) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศไทย
ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศส่วนหนึ่ง สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปมาเป็นรถ EV แม้จะมีจำนวนชิ้นส่วนที่น้อยลงจากเดิม ซึ่งในปี 2573 ตั้งเป้าจะมีผู้ผลิต 1,400 ราย จ้างงาน 7.5 แสนคน สร้างรายได้ 11% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม
“เราต้องเร่งสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนและแบตเตอรี่รถ EV ให้เพียงพอ เพื่อลดพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และช่วยลดต้นทุนการผลิต” นายอิศเรศ กล่าว
ด้านนายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) แนะรัฐบาลเร่งปรับเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุน EV เพิ่มเติม ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น โดยอาศัยช่วงจังหวะเวลาที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเตรียมทำสงครามทางการค้ากับจีน เนื่องจากจะเป็นทางออกที่ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของจีน ยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำตลาดไว้ได้
พร้อมกันนี้ ต้องส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนการผลิต หากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการอาจส่งผลให้ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้ง 7 รายที่ลงทุนไปแล้ว ตัดสินใจถอนการลงทุนได้ เพราะผลิตแล้วไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
“วันนี้มีแต่โรงงานผลิตรถ ซัพพลายเชนยังไม่มา ผู้ผลิตที่ลงทุนไปแล้วทั้ง 7 ราย มีแผนส่งออกไปยุโรป และสหรัฐฯ ถ้าผลิตแล้วส่งออกไปไม่ได้ ก็คงถอนการลงทุน เพราะไม่คุ้ม เขาไม่ได้หวังที่จะผลิตขายเฉพาะอาเซียน” นายสุโรจน์ กล่าว
นอกจากนี้ เตรียมเสนอบอร์ดอีวี ให้พิจารณาขยายเวลาส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้าออกไปอีก 1-2 ปี เพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งออก โดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยทั้ง 7 ราย จะมีกำลังการผลิตได้ปีละเกือบ 5 แสนคันในปี 68
อนาคตของรถ EV ในไทยจะเป็นอย่างไร ขึ้นกับนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐว่าจะมีการทบทวนเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ EV3.0 และ EV3.5 ตามข้อเสนอของภาคเอกชนที่ขอขยายเวลาผลิตรถทดแทนตามจำนวนที่นำเข้าออกไปจากเดิมหรือไม่ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทย ทั้งนี้ เพื่อประคับประคองให้ไทยก้าวเป็นฐานการผลิตรถ EV ได้ตามเป้าหมาย ก่อนที่นักลงทุนจะตัดใจทิ้งโรงงานกลางคันแล้วย้ายไปหาที่ลงทุนใหม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 67)
Tags: SCOOP, ZoomIn, ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า, รถ EV, รถยนต์ไฟฟ้า