ZoomIn: โซเซียลเดือด!! รื้อเกณฑ์แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ในที่สุดก็มีการเคาะรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้เคาะข้อสรุปเกณฑ์การแจกเงินออกมา 3 แนวทาง เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานตัดสินใจในสัปดาห์หน้า โดยปรับลดจำนวนผู้ได้รับสิทธิลง ดังนี้

1.ให้สิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท

2.ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท

3.ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท

พร้อมทั้งปรับเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้สามารถใช้ได้ภายในอำเภอ จากเดิมแค่รัศมี 4 กิโลเมตร

ขณะที่ยอมรับว่าโครงการนี้อาจยังไม่สามารถเริ่มใช้ได้ทันตามกำหนดเดิมในเดือน ก.พ. 67

*”Digital Wallet” ติดเทรนด์ค้นหาบน Google หลังรัฐเล็งตัดสิทธิคนรวย

ข้อมูลจาก Google Trends แสดงให้เห็นว่า คนไทยเริ่มสืบค้นหาข้อมูล “ดิจิทัลวอลเล็ต” มาเรื่อยๆ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา (วันที่ 19-26 ต.ค.) แต่หลังจากที่รัฐบาลเปิดเกณฑ์การแจกเงินออกมา 3 แนวทางเมื่อวานนี้ (25 ต.ค.) ทำให้เวลาประมาณ 21.00 น. ของวานนี้มีการเสิร์ชพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบสัปดาห์ และยังคงสูงต่อเนื่องมาถึงวันที่ 26 ต.ค. นี้

ก่อนหน้านี้ ในโลกโซเชียลได้มีการพูดถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาอย่างต่อเนื่อง โดย DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้รวบรวมการกล่าวถึง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ในสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ ทวิตเตอร์ และติ๊กต็อก ในช่วงวันที่ 1-26 ต.ค. 66

ชาวโซเชียลได้มีการโพสต์และทวิตข้อความเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีจำนวนการกล่าวถึงและการมีส่วนร่วม หรือ Buzz (มาจากการกล่าวถึง (Mention) รวมกับการมีส่วนร่วม (Engagement)) ถึง 32,883,369 ครั้ง อันดับหนึ่งมาจากช่องทางติ๊กต็อก 29,319,992 รองลงมาคือ เฟซบุ๊ก 3,352,787 และอินสตาแกรม 104,946 ตามลำดับ

*ส่องความเห็นโซเซียลหลังรัฐส่อเปลี่ยนเงื่อนไขไม่แจกถ้วนหน้า!

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ พาส่องชาวโซเชียลในแพลตฟอร์มต่างๆ พบว่า เสียงส่วนใหญ่คัดค้าน เนื่องจากมองว่าไม่เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลหาเสียงไว้ และมองว่าหากดำเนินการปรับเงื่อนไขตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ จริง เป็นการเลือกปฎิบัติ และอาจไม่ได้ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ อาทิ

– การแจกเงินนโยบายนี้เกิดด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลเศรษฐาต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การกระตุ้นเกิดได้จากคนทุกระดับรายได้ ไม่คิดว่าเฉพาะรายได้ต่ำกว่า 25,000 บาท ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้กลุ่มเดียว

– ถ้าให้เฉพาะคนจนจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ถ้าไม่ให้ทุกคนก็ไม่ควรให้ ให้เพื่ออะไร มีประโยชน์อย่างไร เป็นการแจกเงินโดยไม่มีเหตุผล

– ไหนว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สุดท้ายก็เป็นได้แค่นโยบายสังคมสงเคราะห์ ไม่ต่างจากของ “ลุง” เมื่อก่อน

– นโยบายไม่ตรงปก หักหลัง ประชาชนไม่เชื่อ เสื่อมศรัทธา มีผลต่อการบริหาร และ เลือกตั้งสมัยหน้า

– ถ้าจะตัดเกณฑ์แบบนี้ เอาคนละครึ่งดีกว่า แจกให้ทุกคนเหมือนเดิม แต่รัฐใช้เงินแค่ 50%

– สุดท้ายก็แค่วาทกรรมเหมือนเดิม รู้ทั้งรู้ว่าเงินประเทศไม่พอ

– บอกว่า 16 ปีขึ้นไปได้ทุกคน ไหนบอกว่าคิดใหญ่-ทำเป็น ไม่เหมือนตอนที่หาเสียงไว้

– นโยบายขายฝัน

ส่วนเสียงที่เห็นด้วย อาทิ

+ ทำถูกแล้ว เพราะหลายคนไม่อยากได้ ให้คนที่อยากได้ดีที่สุด

+ ตัดออกบ้างถูกแล้ว เงินหมื่นเดียวไม่จำเป็นกับคนที่มีเงิน หรือคนรวยเลย

+ นำภาษีคนรวยช่วยคนจนลดช่องว่างทางสังคม คนรวยเอาเปรียบกอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรประเทศมาเยอะแล้ว

+ แจกคนจนจริงๆ เห็นด้วย เพราะคนจนทุกบาททุกสตางค์มีค่ามาก

*”ดิจิทัลวอลเล็ต” ถูกเปรียบเทียบ “คนละครึ่ง/บัตรคนจน”

ขณะที่เสียงของโซเชียลมีการพูดถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เปรียบเทียบกับนโยบายอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็หนีไม่พ้นนโยบาย “คนละครึ่ง” และ “บัตรคนจน” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งการให้รัฐบาลใช้นโยบายคนละครึ่งแบบเดิม ใช้แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในการแจกเงิน หรือเปรียบเทียบว่ารายละเอียดนโยบายในเงื่อนไขที่จะให้สิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ไม่แตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลก่อนเท่าไรนัก

สำหรับตัวอย่างความเห็นในโลกโซเชียล อาทิ

– เข้าคนละครึ่งก็จบ ประชาชนจ่ายครึ่งนึงรัฐฯ จ่ายครึ่งนึง แอปฯ มีอยู่แล้วใช้จ่ายได้ทั่วประเทศ

– ตอนเลือกตั้งบอกนโยบายผ่านการคิดมาดีแล้วว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินจะหมุนไปเท่านั้นเท่านี้รอบ จะได้คืนมาเท่านั้นเท่านี้เท่า วันนี้จะกลายบัตรคนจน บัตรประชารัฐเหมือนรัฐบาลลุงตู่อีกแล้ว แล้วอะไรคือความใหม่ของของนโยบาย

– เอาโครงการคนละครึ่งกลับมาใช้ วงเงิน 10,000 บาท ดูมีประโยชน์กว่านะแบบนี้ รัฐจ่าย 5 แสนล้าน ประชาชนช่วยใช้จ่ายอีก 5 แสนล้าน เศรษฐกิจก็เติบโตเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี ความเห็นในโลกโซเชียลที่นำเสนอข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ยกมานำเสนอเท่านั้น หลังจากนี้ยังคงต้องติดตามต่อไปว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะสรุปรายละเอียดโครงการ เคาะเงื่อนไขจาก 1 ใน 3 แนวทางหรือไม่ รวมถึงรายละเอียดโครงการอื่นๆ ที่จะทยอยออกมาเรื่อยๆ และหลังจากที่รายละเอียดออกมาชัดเจนแล้วนั้น ประชาชนจะมีความเห็นออกมาอย่างไรบ้าง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,