ZoomIn: เช็คสูตรตั้งรัฐบาล “เพื่อไทย” วัดใจบนทาง 2 แพร่ง!!

สูตรเดิม ภายใต้ 8 พรรคร่วมเดิม 312 เสียง ประกอบด้วย

ก้าวไกล (151) เพื่อไทย (141) ประชาชาติ (9) ไทยสร้างไทย (6) เพื่อไทรวมพลัง (2) เสรีรวมไทย (1) เป็นธรรม (1) และ พลังสังคมใหม่ (1)

สูตรนี้นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า พรรคเพื่อไทยจะยังไม่สลายขั้ว 8 พรรคเดิมที่เซ็นเอ็มโอยูไว้ เพราะอาจกระทบต่อฐานเสียง แต่อาจมีกลยุทธ์หาเสียงเข้ามาเติมจากสายสัมพันธ์ในอดีต เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา (10) และพรรคอื่นๆ อีก 3-4 เสียง ทำให้มีเสียงเพิ่มเป็น 325-326 เสียง แล้วไปหาเสียงสนับสนุนเพิ่มจาก สว.อีก 50 เสียง ซึ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้น

ขณะที่นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์-การเมือง คาดว่า สูตรนี้หาก สว.ไม่เอาพรรคก้าวไกลจะส่งผลให้โหวตนายกฯ ไม่ผ่านอีก

สูตร 2 สลับ/พลิกขั้ว แบบไม่มีก้าวไกล-ไทยสร้างไทย มี 2 สมการ

272 เสียง ประกอบด้วย เพื่อไทย (141) พลังประชารัฐ (40) รวมไทยสร้างชาติ (36) ประชาธิปัตย์ (25) ชาติไทยพัฒนา (10) ประชาชาติ (9) ชาติพัฒนากล้า (2) เสรีรวมไทย (1) และ พรรคเล็กอีก 8 พรรค

หรือ

299 เสียง ประกอบด้วย เพื่อไทย (141) ภูมิใจไทย (71) พลังประชารัฐ (40) ประชาธิปัตย์ (25) ชาติไทยพัฒนา (10) ประชาชาติ (9) ชาติพัฒนากล้า (2) และ เสรีรวมไทย (1)

นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ได้ให้ความเห็นว่า สูตรที่ไม่มีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอาจได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว.เพิ่มขึ้น

ขณะที่ นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่าจะเกิดการพลิกขั้วไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคเป็นผู้มีบารมีทางการเมืองสูง ส่วนผู้ที่จะได้รับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี อาจเป็นได้ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน หรือ พล.อ.ประวิตร

สูตร 3 สลายขั้ว 8 พรรคเดิม

288 เสียง ประกอบด้วย เพื่อไทย (141) ภูมิใจไทย (71) พลังประชารัฐ (40) และ รวมไทยสร้างชาติ (36)

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง มองสูตรจะมีโอกาสที่แคนเดทนายกรัฐมนตรีจะเป็นไปได้ทั้ง นายเศรษฐา และพล.อ.ประวิตร

และผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า มองว่า สูตรนี้จะทำให้แคนดิเดทจากพรรคเพื่อไทยสามารถเสนอชื่อซ้ำได้สองครั้ง เพราะองค์ประกอบพรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไปจากครั้งแรก

ดังนั้น ต้องจับตาการโหวตนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ค.นี้ โดยเฉพาะตัวแปรที่สำคัญที่สุด คือ สว.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 66)

Tags: , , , , , , , , ,