ZoomIn: ยานยนต์ไทยเข้าขั้นโคม่า?? ยอดขายปีนี้ส่อทรุดหนักในรอบ 15 ปี

อุตสาหกรรมรถยนต์ ถือเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่จากตัวเลขที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานล่าสุด พบว่า ยอดผลิตและยอดขายรถยนต์เดือน ก.ค.67 ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับจากต้นปี จากหลายปัจจัยลบที่รุมเร้า ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ กระทบกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง, ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น จนสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ, ปัญหาค่าครองชีพสูง จนส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้ ล่าสุดได้ปรับลดเป้าการผลิตลงถึง 2 แสนคัน จากเดิม 1.9 ล้านคัน เหลือ 1.7 ล้านคัน โดยเป็นการปรับลดเฉพาะในส่วนของการผลิตเพื่อขายในประเทศ จาก 750,000 คัน เป็น 550,000 คัน

สถิติผลิต ส่งออก และจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือนปี 2567

ทั้งนี้ อุตสาหกรมยานยนต์ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี ทั้งในด้านด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนมาเป็นไฟฟ้า และการเปลี่ยนแปลงผู้เล่น จากเดิมที่เป็นค่ายญี่ปุ่น-ยุโรป มาเป็นค่ายรถจีน ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกหลายราย ได้ชะลอแผนรุกตลาดต่างประเทศ ทั้งฟอร์ดมอเตอร์, เจนเนอรัลมอเตอร์ส, โฟลค์สวาเกน และ เทสลา เนื่องจากมีการแข่งขันทางการตลาดอย่างดุเดือดของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน จนอาจทำให้ไม่เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน

ล่าสุด วินฟาสต์ (VinFast) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเวียดนามที่ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ร่วมกับตัวแทนจำหน่าย 15 รายในประเทศไทยไปแล้ว โดยมีเป้าหมายเปิดโชว์รูม 22 แห่งในกรุงเทพฯ ตัดสินใจเลื่อนเปิดเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยเช่นกัน รวมถึงกระแสข่าว ค่ายเทสลา พับแผนการลงทุนในไทยที่ยังต้องรอความชัดเจน ส่วนค่ายรถญี่ปุ่น อย่าง ซูซูกิ และซูบารุ ได้ประกาศยุติการผลิตในประเทศไทย

จากมุมมองศูนย์วิจัย ttb analytics ประเมินภาพอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยปี 2567 ว่า แนวโน้มยอดขายรถยนต์ทั้งปี 2567 จะหดตัวรุนแรงสุดในรอบ 15 ปี และยอดขายรถยนต์ในประเทศ อาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 ได้ในเวลาอันใกล้ จากการชะลอตัวของภาคอุปสงค์ในระยะยาว จากปัญหาเชิงโครงสร้าง 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  • ตลาดรถยนต์ในประเทศอิ่มตัว จากจำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนสะสมทั่วประเทศ ปัจจุบันสูงถึงเกือบ 20 ล้านคัน หรือคิดเป็น 277 คันต่อประชากรไทย 1,000 คน ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเวียดนาม 50 คัน ฟิลิปปินส์ 38 คัน และอินโดนีเซีย 78 คันต่อประชากร 1,000 คน ประกอบกับพฤติกรรมการใช้งานรถยนต์ของคนไทยที่ค่อนข้างนาน เฉลี่ยถึง 12 ปี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศหลัก ๆ ที่ใช้งานรถยนต์ประมาณ 6-8 ปี จึงทำให้โอกาสที่จะซื้อรถยนต์ใหม่เพื่อหมุนเวียนรถเก่าค่อนข้างต่ำ
  • พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยนับตั้งแต่การบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของแบรนด์ผู้ผลิตจีน ทำให้มาตรฐานการตั้งราคารถใหม่ในท้องตลาดมีแนวโน้มลดลงจากเดิม ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ขณะที่บางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์ออกไปจนกว่าจะเจอราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ รวมไปถึงทัศนคติต่อการซื้อรถยนต์ของคนยุคใหม่ ที่หันมาใช้การเช่าแทนการซื้อครอบครอง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต และลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะตามมา ทำให้การซื้อรถยนต์ในยุคสมัยนี้อาจน้อยกว่าในอดีต
  • โครงสร้างประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ เห็นชัดจากยอดขายที่อยู่อาศัย และรถยนต์ในประเทศระยะหลังชะลอการเติบโตลง ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างประชากรไทยที่อยู่ในภาวะ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society) และกำลังจะขยับเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) (สัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด) ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า สวนทางกับสัดส่วนประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อรถยนต์อย่างกลุ่มอายุ 25-49 ปี กลับมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 40% ของประชากรทั้งหมดในปี 2553 เป็น 35.2% ในปี 2566 และคาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 33.2% ของประชากรทั้งหมดในปี 2573
  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลง แม้เครื่องชี้การบริโภคในช่วงที่ผ่านมาจะขยายตัวได้ดี แต่ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของภาคบริการตามการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ภาคการผลิตและส่งออกก็กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างรุนแรงขึ้น รวมไปถึงการบุกตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลงในระยะยาว ซึ่งจะบั่นทอนการเติบโตของรายได้และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในที่สุด
  • หนี้ครัวเรือนสูงกำลังเพิ่มข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันสูงถึง 91.3% ของจีดีพี ซึ่งสูงเกินกว่าระดับที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 80% ของจีดีพี และสูงกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกัน ท่ามกลางความพยายามแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ จึงทำให้สถาบันการเงินมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อแก่รายย่อยมากขึ้น สะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อของสถาบันการเงินหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาสในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน จะมีแนวโน้มผ่อนคลายลงบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อแต่คาดว่าความกังวลเกี่ยวกับการเสื่อมค่าของมูลค่าสินทรัพย์ (รถยนต์) ในอนาคตแนวโน้มการด้อยลงของคุณภาพหนี้ รวมถึงเงื่อนไขสัญญากู้และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จึงทำให้สถาบันการเงินยังคงมีความรัดกุมในการพิจารณาสัญญาสินเชื่อเช่าซื้อต่อไป

สอดรับกับมุมมองของ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ที่มองว่า ยอดขายในประเทศช่วงครึ่งปีแรกตกลงไปมากจากรถปิกอัพ เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้ไฟแนนซ์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ ทั้งนี้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ ต้องรอให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนคลี่คลายลง

หากรัฐบาลทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่การผลิตเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเป็นจำนวนมาก

“ที่ผ่านมา การเติบโตของหนี้ครัวเรือนยังสูงกว่าจีดีพี ต้องพยายามทำให้จีดีพีขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% ได้ 4-5% ยิ่งดี รถที่ขายได้หนึ่งคัน หรือบ้านหนึ่งหลัง จะสร้างรายได้ให้กับห่วงโซ่การผลิตจำนวนมาก” นายสุรพงษ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 67)

Tags: , , , ,