“จะไปทางไหนดี จะมีใครชี้ทาง” เหล่านักลงทุนรายย่อยเวลานี้ยังไร้หนทางชัดเจน ต่างมีคำถามมากมายจากทิศทางตลาดฯที่ไม่ชัดเจน เมื่อยังเผชิญหลายปัจจัยลบมากมาย ล้วนแล้วแต่มีต้นทางมาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่จนหลายสำนักวิจัยเริ่มต่างทยอยออกมาหั่นคาดการณ์ GDP ลง
โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เป็น -1.5 % ถึง 0.0% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐฯ
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 64 เหลือเติบโต 0.7% จากเดิม 1.8% และในปี 65 คาดว่าจะเติบโตราว 3.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.9% เนื่องจากผลกระทบสถานการณ์โควิดยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งนโยบายการเปิดประเทศล่าช้า
นายวิจิตร อายะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า สัญญาณของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่จบและมีทีท่าจะยืดเยื้อออกไปอีก ทำให้มาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐฯอาจต้องขยายออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ ดังนั้น หลายสำนักวิจัยเริ่มปรับลดประมาณการ GDP ตามที่แบงก์ชาติ และ กกร.ได้ปรับลดประมาณการ GDP ลง และก็ต้องจับตาว่าสภาพัฒน์ฯจะปรับลดประมาณการ GDP ด้วยหรือไม่ ซึ่งทำให้ตลาดฯค่อนข้างจะมีสุ่มเสี่ยง และเปิด Downside ตลาดหุ้นไทย แม้จะได้เรื่องการส่งออกเข้ามาสนับสนุนได้บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นได้
“เวลานี้นักลงทุนควรจะเล่นโซนล่างดีกว่า ให้จับตาเส้น 200 วันที่ระดับดัชนี 1,515 จุด ถ้ายืนไม่อยู่มีโอกาสกระแทกลง ซึ่งเป็นจังหวะที่ตลาดเกิด Panic ค่อยเข้าไปซื้อเพื่อเล่นเก็งกำไร ส่วนนักลงทุนสายเก็งกำไรก็ให้เล่นโซนแนวรับต่าง ๆ ได้ เล่นเด้งได้ แต่มองจุดน่าสนใจเล่นอยู่แถว 1,500 หรือต่ำกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ตลาดยังปกตลุมด้วยปัจจัยลบ รอให้ข่าวร้ายออกมาก่อนแล้วค่อยเก็บ”
นายวิจิตร กล่าวต่อว่า รอบนี้เศรษฐกิจที่อ่อนแอมากพอควรส่งสะท้อนไปที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงไปมาก โดยอ่อนค่ามากสุดในรอบ 3 ปี หลังจากที่ยังไม่เห็นสัญญาณดีขึ้นจากสถานการณ์โควิด ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าสิ้นเดือน ส.ค.แล้วโควิดจะหมดไปหรือไม่ โดยยังคงคาดเดายาก ดังนั้น ให้รอ Panic แล้วค่อยเก็บ เพราะตอนนี้มีแต่ข่าวร้ายในประเทศ ส่วนปัจจัยต่างประเทศเองก็ยังวิตกในเรื่องการปรับลด QE ของสหรัฐฯ ทั้งที่เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ได้ฟื้นตัวชัดเจนมากนัก
ตอนนี้นักลงทุนคงจะหันไปเล่นหุ้นขนาดกลางที่ไม่ใช่เป็นเป้าหมายของสถาบันและต่างชาติ อย่างหุ้นในกลุ่มส่งออกก็น่าสนใจ เนื่องจากได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่ามาก อย่าง กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำไรยังยืนพื้นได้อยู่ พร้อมแนะนำหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีในกลุ่มส่งออกและกำไรยังดีต่อเนื่อง อย่างหุ้น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU), บมจ.เซ็ปเป้(SAPPE), บมจ.สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) (SMT), บมจ. ทีมพริซิชั่น (TEAM) และบมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) เป็นต้น ซึ่งอย่างน้อยกำไรก็ยังดีในไตรมาส 2-3/64
หุ้น | ราคาปิด (6 ส.ค.) บาท/หุ้น | ราคาเป้าหมายเฉลี่ย (บาท/หุ้น) |
TU | 22.50 | 23.43 |
SAPPE | 28.00 | 36.50 |
SMT | 6.85 | 7.50 |
EPG | 12.60 | 14.31 |
TEAM | 4.66 | N/A |
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 64)
Tags: การลงทุน, ตลาดหุ้นไทย, วิจิตร อายะพิศิษฐ, หุ้นไทย