จากกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาให้จำคุก น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นเวลา 2 ปี ในความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้งบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ให้ได้รับความเสียหาย เมื่อวันที่ 6 ก.พ.68
ขณะที่ กลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น [TRUE] ได้ทำหนังสือคัดค้าน น.ส.พิรงรอง ไม่ให้พิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทรู ทั้งหมดเมื่อวานนี้ (29 เม.ย.) ทั้งๆ ที่ น.ส.พิรงรอง มีคดีพิพาทกับ ทรูดิจิทัล แต่ในหนังสือคัดค้านกล่าวรวมไปถึง ทรู คอร์ปฯ และทรูมูฟเอชด้วย กรรมการ กสทช.ส่วนหนึ่งก็มีความเห็นแย้ง
โดยก่อนหน้านี้ ทรูเคยทำหนังสือคัดค้านไม่ให้ น.ส.พิรงรอง พิจารณาวาระที่เกี่ยวกับทรู เมื่อปี 67 แม้ว่าหนังสือมอบอำนาจทำไม่ถูกกฎหมายจึงทำให้คำคัดค้านตกไป แต่ที่ผ่านมานพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทข.ได้เชิญ น.ส.พิรงรองออกจากที่ประชุม หรือบางครั้งประธานหยิบมาวาระที่เกี่ยวกับทรูมาพิจารณาในช่วงที่ น.ส.พิรงรอง ไม่อยู่ในที่ประชุม
มาในครั้งนี้ น.ส.พิรงรองก็คัดค้านว่า กรณีคัดค้านของทรูทำไม่ได้ เพราะเป็นคนละนิติบุคคล กล่าวคือ ทรูดิจิทัล เท่านั้นที่เป็นคู่กรณีกัน ไม่เกี่ยวกับ ทรู คอร์ปฯ และทรูมูฟเอช จะมาคัดค้านเหมารวมไม่ได้ และในกฎหมายก็ไม่ได้ระบุไว้ ดังนั้น ประธาน กสทช.จึงได้ส่งให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พิจารณา ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 1 พ.ค.68
วาระที่จะพิจารณาของอนุกรรมการที่ปรึกษาฎหมายในวันพรุ่งนี้มี 2 ประเด็น คือ 1.หนังสือคัดค้านของกลุ่มทรูฯ ไม่ให้ น.ส.พิรงรอง พิจารณาในฐานะกรรมการ กสทช. และ 2. พิจารณาระเบียบการใช้เงินของกองทุน วิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กทปส.) เนื่องจาก ประธาน กสทช.ต้องการรวบอำนาจพิจารณาและตั้งเรื่องใข้เงิน กทปส.เอง จากปกติขั้นตอนการใช้เงิน กทปส.ต้องมี บอร์ด กสทช.จะมาร่วมพิจารณา เนื่องจากประธาน กสทช.เคยเสนอโครงการเทเลเมดิซีนแล้วไม่ผ่าน ดังนั้น อนุกรรมการฯจะพิจารณาระเบียบการใช้เงิน กทปส.ที่ถูกต้อง
แล้วทำไม ทรูฯถึงต้องคัดค้าน น.ส.พิรงรอง? แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า กลุ่มทรู มีความกังวลว่าการขอลดมาตรการเยียวยาจากการควบรวม TRUE-DTAC บางข้อ หากน.ส.พิรงรอง อยู่ร่วมพิจารณาอาจจะไม่ผ่าน โดยเฉพาะข้อแรก การคิดส่วนเกินค่าบริการที่ต้องคิดตามต้นทุน ไม่ใช่คิดตามราคาตลาด และการให้ปรับลดราคาบริการเฉลี่ยลง 12%
หาก น.ส.พิรองรอง ไม่มีสิทธิโหวต ขณะที่บอร์ด กสทช.แยกออกเป็นสองฝ่าย จะทำให้เสียงโหวตสองฝั่งเป็น 3:3 เท่ากัน จะทำให้ประธาน กสทช.มีสิทธิชี้ขาดไปข้างใดข้างหนึ่งได้
บอร์ดขัดแย้งกันหนัก-2 รองเลขาฯ จะอยู่หรือไป
เรื่องราวภายในสำนักงาน กสทช.ไม่แผ่วเลย ตั้งแต่แต่งตั้งบอร์ด กสทช.ใหม่ๆ จนถึงปัจจุบัน มีประเด็นผุดขึ้นมาได้ตลอด รูปการณ์ชัดเจนแล้วว่า กรรมการ กสทช.ทั้ง 7 คนแตกแยกกันสิ้นเชิง กลุ่มแรก 3 คน นำโดย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด รวมถึงนายไตรรัตน์ ในฐานะรักษาการ เลขาธิการ กสทช.ที่มักแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกัน
ความขัดแย้งภายในสำนักงาน กสทช.ยังระอุอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. นั่งรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ และนายสุทธิศักดิ์ ตันยะโยธิน รองเลขาธิการ ได้รับการต่ออายุหลังหมดสัญญาว่าจ้างในวันที่ 30 เม.ย.68 โดยการประเมินของประธาน กสทช.เพียงผู้เดียว ทั้งที่ในระเบียบเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ กสทช.
กรณีของนายไตรรัตน์ จะสิ้นสุดสัญญาว่าจ้างในตำแหน่งรองเลขาธิการ 5 ปีในวันที่ 30 เม.ย.68 แต่ ประธาน กสทช.ได้ประเมินผลงานล่วงหน้าถึง 7 เดือนก่อนครบกำหนดเพื่อต่อสัญญาให้กับนายไตรรัตน์ และไม่ได้นำเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. ซึ่งนายไตรรัตน์ ได้เซ็นคำสั่งให้นายสุทธิศักดิ์ นั่งตำแหน่งรองเลขาธิการต่อไป และแต่งตั้งให้นายสุทธิศักดิ์ รักษาการเลขาธิการฯ (ชั่วคราว) เพื่อลงนามคำสั่งแต่งตั้งนายไตรรัตน์ให้เป็นพนักงานประจำ แต่ภายหลังนายสุทธิศักดิ์ได้ยกเลิกคำสั่งนี้ และให้สำนักงานฯเพิกถอนคำสั่งนั้น แต่สำนักงานฯไม่ยอมเพิกถอน
เมื่อนำเรื่องเข้าสู่บอร์ด กสทช.ในวาระเพื่อทราบ กรรมการ 4 คน คือ น.ส.พิรงรอง รามสูต, พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นายศุภช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวกรัยพงศ์ ไม่เห็นด้วย ส่วนอีก 2 คน คือ นายต่อพงษ์ เสลานนท์ และ พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร งดออกเสียง เหลือเพียง ประธาน กสทช.ที่เห็นด้วย
กรรมการ กสทช.ฝ่าย 4 คนได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช.ให้ชี้แจงว่าการกระทำนี้ละเมิดอำนาจกรรมการ กสทช.หรือไม่ แต่สำนักงาน ฯ โดยนายไตรรัตน์ และนายสุทธิศักดิ์ ไม่มีคำตอบ และอ้างคำสั่งของประธาน กสทช. ดังนั้น กรรมการ กสทช.จึงขอให้ประธานชี้แจง และให้เสนอเข้าวาระการประชุมเพื่อจะให้สำนักงานชี้แจงเรื่องนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธจากประธาน ซึ่งให้เหตุผลว่าสำนักงาน กสทช.ทำตามระเบียบแล้ว
และเรื่องถึงจุดพีคเมื่อนายไตรรัตน์ ยื่นฟ้อง 4 กรรมการ กสทช. คือ น.ส.พิรงรอง, พล.อ.ท.ธนพันธุ์, นายศุภช และนายสมภพ กรณีปลดนายไตรรัตน์พ้นจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. พร้อมสั่งตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงเคสการอุดหนุนลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาทที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงกับสำนักงาน กสทช.แต่เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางยกฟ้อง
แหล่งข่าวใกล้ชิดสำนักงาน กสทช. กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อ 18 เม.ย.68 พล.อ.ท.ธนพันธุ์ได้สอบถามกับประธานบอร์ดถึงมติ กสทช.เดิมให้เปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ และรักษาการ เลขาธิการ กสทช.จนกว่าผลสอบสวนจะเสร็จสิ้น พร้อม แต่งตั้งนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช.สายงานกระจายเสียงฯ (ในขณะนั้น) ทำหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการฯ และให้สำนักงาน กสทช.แต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายไตรรัตน์ตามระเบียบการบริหารงานบุคคลฯ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากประธาน กสทช.
ก่อนหน้านี้ ประธานบอร์ด กสทช.ก็ไม่ได้เร่งรัดสรรหาเลขาธิการ กสทช.ตัวจริง ทั้งที่บอร์ด กสทช.เร่งรัด ปล่อยให้ตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.ว่างเว้นใกลัครบ 5 ปี นับตั้งแต่ 1 ก.ค.63 และทำให้นายไตรรัตน์ เป็นรักษาการเลขาฯนานที่สุดถึง 5 ซึ่งตามระเบียบสำนักงาน กสทช.ตำแหน่งเลขาธิการ และรองเลขาธิการ ต้องผ่านการสรรหาและได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการ กสทช.
อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวว่ามีกลุ่มบุคคลนำข้อมูลไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ฟ้องเอาผิดทั้งประธาน กสทช. นายไตรรัตน์ และนายสุทธิศักดิ์ แล้ว
แหล่งข่าวอีกราย กล่าวว่า ยุคนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีใครตรวจสอบ กสทช.เลย ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เนื่องจากซุปเปอร์บอร์ดที่มีหน้าที่ตรวจสอบ กสทช.ก็ยังอยู่ระหว่างการสรรหาจากวุฒิสภา ซึ่งปรากฎชื่ออดีตเจ้าหน้าที่ กสทช.อยู่ในรายชื่อที่ได้รับการสรรหาด้วย จึงมีคำถามว่าจะคาดหวังการตรวจสอบเที่ยงตรงโปร่งใสได้หรือไม่?
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 68)
Tags: SCOOP, TRUE, ZoomIn, กสทช., พิรงรอง รามสูต