“การส่งออก” ถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่มีสัดส่วนสูงถึง 55% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่ปัจจุบัน การส่งออกไทยกำลังเผชิญความท้าทาย และปัญหาเชิงโครงสร้างมากมาย ส่งผลให้การขยายตัวชะลอลงมากเมื่อเทียบกับอดีต ความหวังที่จะให้การส่งออกกลับมาเป็น “พระเอก” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาจจะดูไม่ง่ายนัก ท่ามกลางความร่วมมือของภาครัฐ-เอกชน ร่วมผลักดันกันเต็มที่ เพื่อให้การส่งออกปี 2567 โตได้ตามเป้าหมายที่ 1-2%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ยังเชื่อว่า การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี 67 จะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของโลก และน่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1-2% โดยข้อมูลล่าสุด การส่งออกไทย 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.67) ขยายตัวได้ 3.8%
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการส่งออก เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้า หลังการเลือกตั้งในหลายประเทศสำคัญ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์ส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 สนค. ได้วิเคราะห์กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกเติบโตได้ดี โดยแบ่งเป็น สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม และสินค้าในกลุ่มเกษตรกรรม พร้อมแนวทางการพัฒนา ดังนี้
1.สินค้าอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี คือสินค้าในกลุ่มดิจิทัล เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลสนับสนุนความต้องการใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่วัฎจักรของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลังกลับมาฟื้นตัวจากปีก่อน คาดว่าจะส่งผลดีต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์และส่วนประกอบ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
* แนวทางการผลักดันและพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรม
– สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ
– สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนสมัยใหม่และการปฏิรูปพลังงานไปสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
– สนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยของไทยเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคตมากขึ้น
– สนับสนุนผลักดันเรื่องราวที่เป็น Soft Power ที่เป็นเอกลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว
– ขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังต่างประเทศทั้งทาง online และ offline
2.สินค้าเกษตร ที่คาดว่าจะเติบโตดี ได้แก่ ข้าว ยางพารา และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากสินค้าอาหารได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร โดยจะเห็นว่าสินค้าเกษตรหลายรายการราคาปรับตัวดีขึ้น จากความต้องการของโลกที่เพิ่มขึ้น และอุปทานที่ขาดแคลนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
* แนวทางการผลักดันและพัฒนาสินค้าเกษตร
– สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร
– สนับสนุนให้เชื่อมโยงอุตสาหกรรมปลายน้ำกับเกษตรกรรายย่อยของไทย ให้สามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล
– สนับสนุนผู้ประกอบการแปรรูปและส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ให้ขยายสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น เป็นสินค้าศักยภาพใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
– นำผู้ประกอบการสินค้าเกษตรไปร่วมงานจัดแสดงสินค้าด้านอาหารระดับโลก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 ประกอบด้วย
* ปัจจัยหนุน
1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะฟื้นตัว และปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% (ณ ก.ค.67) จากคาดการณ์เดิมที่ขยายตัว 3.2% (ณ เม.ย.67)
2. เงินเฟ้อเฉลี่ยโลกที่ลดลงจากปีก่อนหน้า ทำให้คาดว่าจะเริ่มใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของการลงทุน การบริโภค และการจ้างงาน
* ปัจจัยเสี่ยง
1. ประเทศคู่ค้ามีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เช่น จีนยังคงต้องจัดการกับปัญหาสะสมของการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่กระทบภาคการเงินและการบริโภค อีกทั้งมีความเสี่ยงในการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ส่วนญี่ปุ่นเผชิญกับการอ่อนค่าของเงินเยน ทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศชะลอลง จากต้นทุนด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ รวมถึงอาเซียนได้รับผลกระทบจากภาวะหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง
2. ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ สถานการณ์ของทะเลแดงยังคงไม่กลับมาปกติ ทำให้อาจจะเกิดปัญหาค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-กลุ่มฮามาสยังคงอยู่และอาจขยายไปสู่ความขัดแย้งกับอิหร่าน สร้างความไม่แน่นอนในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้ามีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน เริ่มก่อตัวสงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งจะกดดันการค้าโลกให้ชะลอลง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าสงครามการค้ารอบใหม่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวได้ 0.2-7.0%
3. สถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อผลผลิตการเกษตรให้ออกสู่ตลาดลดลง สินค้าเกษตรบางรายการมีปริมาณการผลิตออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนิโญ ส่งผลให้การส่งออกลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย
สนค.ได้ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดแนวทางผลักดันการส่งออกร่วมกัน โดยออกมาเป็น “แผนการพัฒนาและยกระดับการส่งออกของไทย” มีเป้าหมายผลักดันให้การส่งออกมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น วางแนวทาง 4 ประเด็น เพื่อพลิกโฉมการส่งออกไทย ประกอบด้วย
1. การยกระดับการส่งเสริมสินค้าส่งออกที่มุ่งเป้าไปยังสินค้าที่มีศักยภาพ สอดรับกับกระแสโลกและความต้องการของตลาดในอนาคต โดยมุ่งเน้นส่งเสริมสินค้าตามแนวคิด BCG สินค้าสำหรับยุค Next Normal อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สินค้าอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ เครื่องมือแพทย์ สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น อีกทั้งให้ความสำคัญกับการกระจายสัดส่วนตลาดส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง และการปรับการส่งเสริมการค้าในตลาดหลักให้เป็นการส่งเสริมแบบรายเมือง/มณฑล/รัฐ
2. การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ผ่านการจัดทำ FTA เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้า เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และแสวงหาพันธมิตรและคู่ค้าในตลาดใหม่ ๆ ผ่านการใช้กรอบความร่วมมือกับต่างประเทศให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA
3. สนับสนุนการใช้นวัตกรรม และยกระดับมาตรฐานสินค้า เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการผลิต รวมถึงส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาให้มากขึ้น
4. คุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ สร้างความเข้มแข็งและเป็นธรรมทางการค้าให้ผู้ส่งออกไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ผ่านการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการทางการค้าให้เอื้อและอำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจยุคใหม่ และสามารถรักษาผลประโยชน์ทางการค้า พร้อมทั้งสอดรับกับบริบททางการค้าระหว่างประเทศ
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มั่นใจยอดการส่งออกในปีนี้ จะขยายตัวได้ 1-2% โดยมีมูลค่า 2.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือแตะ 10 ล้านล้านบาท โดยมีสัญญาณที่ดีจากการเติบโตของการนำเข้าสินค้าทุน ที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกในเดือน ส.ค.- ก.ย.
และแม้ปีนี้ ไทยจะสามารถเอาตัวรอดไปได้ แต่เป็นเพียงแค่บทนำเท่านั้น ปีหน้าจะเป็นบททดสอบที่แท้จริง ดังนั้นถึงเวลาที่ไทยจะต้องปฏิรูปการส่งออกให้ก้าวเข้าสู่การเป็นชาติการค้าในอีก 8 ปีข้างหน้า (Trading Nation 2032) ซึ่งเป็นการก้าวข้ามการส่งออกแบบเดิม ๆ ที่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นเหมือนการกินบุญเก่า และมักได้รับผลกระทบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งออกของไทยมีทิศทางการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ต่ำกว่าปีละ 5%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ย. 67)
Tags: SCOOP, ZoomIn, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย