เป็นที่น่ายินดีสำหรับผู้ถือหุ้นในกลุ่มแบงก์ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปลดล็อกให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายปันผลเกินกว่าในอดีตได้ แต่ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิปี 64 หลังจากผลประเมินทดสอบระดับเงินกองทุนภายใต้ภาวะวิกฤติ (stress test) ประจำปี 64 พบว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบยังคงมีความแข็งแกร่งเพียงพอ
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า มาตรการของแบงก์ชาติไม่ได้เกินจากที่คาดหมายไว้ โดยจะทำให้กลุ่มแบงก์สามารถจ่ายปันผลจากผลดำเนินงานปี 64 ได้มากกว่าปีก่อน
ก่อนหน้านี้มีหุ้นในกลุ่มแบงก์ที่จ่ายเงินปันผลในระดับสูงอยู่แล้ว คือ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นโฮลดิ้ง ไม่ได้อยู่ภายใต้เกณฑ์ของแบงก์ชาติ แต่จากมาตรการขแบงก์ชาติที่ออกมารอบนี้ มองว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) น่าจะจ่ายเงินปันผลในปี 64 ได้เพิ่มจากปี 63 ได้มากที่สุด ประเมินเงินปันผล 5.45 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend yield ประมาณ 4.1% จากปี 63 ที่จ่ายเงินปันผล 2.30 บาท/หุ้น
ส่วน TISCO ในปี 64 คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลได้ประมาณ 6.85 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend yield 7.4% เพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่จ่ายเงินปันผล6.30 บาท/หุ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 4/64 คาดว่ารายได้น่าจะฟื้นตัวขึ้นได้จากไตรมาส 3/64 ที่รายได้เป็นจุด Bottom ไปแล้ว แต่หากมองในแง่ของผลกำไร อาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเงินโบนัสพนักงาน เป็นต้น ทำให้มองกำไรปรับขึ้นดีเมื่อเทียบ yoy แต่หากเทียบ qoq อาจจะไม่ได้ปรับขึ้นมาก
พร้อมมองทิศทางกลุ่มแบงก์ในปี 65 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากที่มีการเปิดเมืองทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ และทุกอย่างก็จะกลับมาฟื้นตัวขึ้น
ทั้งนี้ มองหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่มีความน่าสนใจในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แต่เลือก BBL เป็น Top pick เนื่องจากมีการปล่อยสินเชื่อให้กับรายใหญ่มาก ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น BBL ก็จะกลับมาได้ก่อน อีกทั้งราคาหุ้นยัง Laggard จึงแนะนำ”ซื้อ”หุ้น BBL ด้วยราคาเป้าหมาย 159 บาท
ด้าน บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ฯมีมุมมองเป็นบวกต่อการที่แบงก์ชาติปลดล็อกการจ่ายเงินปันผลกลุ่มแบงก์ สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของกลุ่มธนาคารมีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้
SCB, KTB และ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) น่าจะได้ประโยชน์จากการจ่ายเงินปันผลได้มากกว่าคาด โดยเรียงจากมาก-น้อย คือ SCB มี upside จาก Dividend yield เพิ่มขึ้น +1.7%, KTB +1.7% และ KKP +1.4% อ้างอิงการกลับไปจ่าย payout ratio ที่ระดับเดียวกันกับปี 62 และจ่าย payout ได้มากที่สุดที่ 50%
ทั้งนี้ TISCO จะไม่เห็นความแตกต่างมากเพราะจ่าย payout สูงมากอยู่แล้ว เนื่องจากเป็น Holding company ที่สามารถนำเงินปันผลจากบริษัทลูกมาจ่ายมาก ๆ ได้
พร้อม เลือก SCB “ซื้อ”ราคาเป้าหมาย 150 บาท เป็น Top pick และจากประเด็นดังกล่าวยังชอบ KKP “ซื้อ”ราคาเป้าหมาย 65 บาท เพราะมีโอกาสที่จะเห็น Dividend yield ปี 64 สูงถึง 5.5%
ส่วน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุคงน้ำหนักการลงทุน Bullish ต่อกลุ่มธนาคาร ยังคงเลือก SCB, KBANK เป็น Top pick ของกลุ่มธนาคาร มีมุมมองเป็น Positive sentiment ต่อประกาศของแบงก์ชาติ สะท้อนต่อความแข็งแกร่งของฐานะการเงินและเงินกองทุนของธนาคารไทย สามารถรองรับความไม่แน่นอนได้ในระยะยาว
และเป็นการปลดล็อกความกังวลบางส่วนของตลาดต่อความสามารถในการจ่ายปันผลของกลุ่มธนาคาร โดยการอนญาตให้จ่ายเงินปันผลไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย แต่ประเด็นที่ถือเป็น Positive surprise คือการปลดล็อกข้อจำกัด ไม่ให้ธนาคารจ่าย Payout เกินอัตราการจ่ายในอดีต (แต่ยังคงกำหนดอัตราสูงสุดที่ 50%) ทำให้ธนาคารมีโอกาสจ่ายเงินปันผลได้มากกว่าคาด
ปัจจุบัน คาดเงินปันผลโดยใช้ สมมติฐาน Base case คำนวณการจ่ายเงินปันผลปี 64 อิง payout ของปี 63 คาดธนาคารที่มี %Dividend yield สูงสุดคือ TISCO 7.3%, KKP 4.2%, TTB 3.6%, BBL 3.1%, KTB 2.8%, SCB 2.5% และ KBANK 1.9% หากประเมินสมมติฐาน Best case อิงอัตราการจ่ายเงินปันผล Pre-COVID ปี 62 (แต่ไม่เกิน 50%) ประเมิน %Dividend yield ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น โดย TISCO ยังคงมี %yield สูงสุดในกลุ่มฯ ที่ 7.8%, KKP 5.6%, KTB 4.4%, BBL 4.1%, SCB 4.0%, TTB 3.7% และ KBANK 2.7%
ธนาคารที่จะได้ Sentiment เชิงบวกมากสุด คือ ธนาคารที่มีโอกาสจ่ายเงินปันผลได้มากกว่าคาด (ผลต่างสูงสุดระหว่าง Base case กับ Best case) นำโดย KTB (เพิ่ม +1.6%), SCB (+1.5%), KKP (+1.3%), BBL (+0.9%), KBANK (+0.8%)
ส่วน TTB และ TISCO คาดได้ผลบวกไม่มากเพราะ Base case คาด TTB จ่าย Payout ที่ 45% ใกล้เคียงกับ 47% ในปี 62 ขณะที่ TISCO Base case คาด payout 80% ใกล้เคียงกับ 85% ในปี 62 โดย TISCO จ่ายได้เกินเพดาน 50% เพราะเป็น Holding company ที่มีธนาคารเป็นบริษัทย่อย
หุ้นในกลุ่มแบงก์ที่มีเสน่ห์ในการจ่ายเงินปันผลงวดผลประกอบการปี 64 ในระดับที่ดี มีดังนี้
การจ่ายเงินปันผล (บาท) | การจ่ายเงินปันผล (บาท) | ||||||
แนวโน้มจ่ายปี 64 | แนวโน้มจ่ายปี 64 | แนวโน้มจ่ายปี 64 | แนวโน้มจ่ายปี 64 | แนวโน้มจ่ายปี 63 | |||
ธนาคาร | บัวหลวง | หยวนต้า | ฟิลลิป | ฟินันเซีย ไซรัส | ราคาเป้าหมายเฉลี่ย (บาท) | ราคาปิด (บาท) (16 พ.ย.64) |
|
SCB | 5.50 | 5.00 | 5.45 | 6.70 | 2.30 | 142.90 | 134.50 |
KBANK | 4.80 | 4.00 | 4.50 | 2.70 | 2.50 | 171.90 | 147.50 |
BBL | 5.30 | 5.51 | 5.00 | 4.00 | 2.50 | 158.60 | 127.50 |
KTB | 0.36 | 0.51 | 0.48 | 0.57 | 0.275 | 13.40 | 11.80 |
KKP | 2.58 | 3.31 | 3.40 | 2.50 | 2.25 | 68.13 | 61.50 |
TISCO | 7.00 | 6.59 | 6.85 | 6.60 | 6.30 | 106.10 | 92.25 |
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 64)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, หุ้นแบงก์, หุ้นไทย, อดิสรณ์ มุ่งพาลชล