ตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังนี้ยังคงมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 46.9 ในเดือนพ.ค. รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการประจำเดือนพ.ค.ที่ต่ำกว่าคาดด้วย ขณะเดียวกันตัวเลขยอดส่งออกเดือนพ.ค. ของจีนก็ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์
ทั้งนี้จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง กดดันการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้วก็ตาม
SET ต้นเดือนมิ.ย.เริ่มฟื้นตัว หลังต่างชาติถล่มขายหนัก 1 แสนล้านบาท
ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง หากนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (YTD) โดยนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นรวมแตะ 1 แสนล้านบาท และหากนับตั้งแต่การเลือกตั้งของไทยในวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ตลาดปรับตัวลงไปค่อนข้างมาก โดยสร้างปรากฏการณ์หลุดระดับ 1,500 จุด ครั้งแรกในรอบ 2 ปี จากผลการเลือกตั้งผิดคาด พรรคก้าวไกลได้คะแนนนำเป็นอันดับ 1 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ขณะเดียวกันนโยบายของพรรคก้าวไกลยังมุ่งเน้นไปที่การให้สวัสดิการประชาชน และลดค่าครองชีพ ถือเป็นปัจจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนไทย เนื่องจากการหารายได้ของว่าที่รัฐบาลใหม่จะมาจากการเก็บภาษีนิติบุคลลเพิ่มขึ้น และเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น หรือ Capital Gain Tax
อย่างไรก็ตามในครึ่งปีหลังนี้ยังต้องติดตามประเด็นการเมืองอย่างใกล้ชิด หากยึดตามไทม์ไลน์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะอยู่ในช่วงต้นเดือนส.ค.66 ซึ่งกว่าจะผ่านไปสู่ขั้นตอนดังกล่าว จะต้องผ่านอีกหลายด่าน ไม่ว่าจะเป็นการรับรองผลการเลือกตั้ง จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.ค.66 จากนั้นวันที่ 20 ก.ค.66 ส.ส.ที่ผ่านการรับรองจาก กกต.แล้วรายงานตัววันสุดท้าย และวันที่ 25 ก.ค.66 เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเมื่อยิ่งเข้าใกล้วันดังกล่าว ตลาดหุ้นไทยก็อาจกลับมาผันผวนได้อีกครั้ง
แนะกอดเงินสด 30%-50% ของพอร์ต
นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย กล่าวกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังนี้ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลง ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ใกล้ถึงจุดพีคแล้ว ก็ต้องติดตามต่อว่าจะมีการปรับลดลงได้เมื่อไหร่ เนื่องจากเมื่อปรับดอกเบี้ยลง หุ้นก็จะปรับตัวลงตามไปด้วย
ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลของไทย อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งถึงจะเห็นความชัดเจนได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากประเด็นดังกล่าวไปค่อนข้างมาก ทำให้ปัจจุบัน Valuation ตลาดไม่แพงแล้วในระดับ 1,500 จุด บวกลบ และ Earning Yield Gap อยู่ในค่าเฉลี่ย ถือเป็นโซนที่น่าสนใจในการเข้ามาลงทุน ประกอบกับเศรษฐกิจไทย ยังเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยอ้างอิงข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่คาด GDP ของไทยปีนี้จะเติบโตได้ 3.2% และโตดีกว่าเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย ขณะที่เงินเฟ้อของไทย ก็ลดลงมาอย่างรวดเร็ว และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ยมาที่ระดับ 2% และคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับดังกล่าวไว้
ด้านผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ทั้งหมดในไตรมาส 1/66 มีกำไรสุทธิรวม 2.6 แสนล้านบาท เติบโต 52% เมื่อเทียบ QoQ และ +6% YoY
มองดัชนีฯ ในระดับ 1,500 จุด บวกลบในปัจจุบัน หากไม่มีเหตุการณ์อะไรเข้ามากระทบ คาดดาวน์ไซด์จำกัดแล้ว หรือไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่า 1,450 จุด ขณะที่แนวต้านน่าจะอยู่ที่ 1,600 จุด แนะเป็นโอกาสทยอยเข้าลงทุนในสัดส่วนราว 20-30% ของพอร์ต และถือเงินสดให้มากกว่า 50% ของพอร์ต เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
แนะนำลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว (Domestic play) เช่น บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO), และกลุ่มท่องเที่ยว อย่าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT), บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), บมจ.เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (SHR) รวมถึงหุ้นที่มีอัพไซต์ อย่าง บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) จากหนังฟอร์มยักษ์จ่อเข้าฉายในครึ่งปีหลังเพียบ
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง ซึ่งเมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอาจได้คะแนนไม่ถึง 376 เสียง และท้ายที่สุดแล้วเราอาจเห็นนายกรัฐมนตรีเป็นคนอื่น ที่ไม่ใช่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล
อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงถดถอย การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างสหรัฐ-จีน ก็ถือเป็นปัจจัยที่อาจเข้ามากระทบ และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นให้แนวรับไว้ 1,450-1,470 จุด ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจจะถดถอยเป็น Hard Landing และการเมืองวุ่นวาย ทวีความรุนแรงไปสู่การประท้วงหรือไม่ และให้แนวต้านไว้ที่ 1,600 จุด
แนะปรับพอร์ตกระจายการลงทุน เน้นหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในสัดส่วนไม่เกิน 70% ของพอร์ต และถือเงินสดไว้บางส่วนราว 30% ของพอร์ต ทั้งนี้ในประเทศแนะลงทุนในหุ้นอิงกลุ่มการบริโภค และท่องเที่ยว เช่น ค้าปลีก บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), ธนาคารพาณิชย์ อย่าง ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงไทย (KTB) รวมถึงกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม อย่าง บมจ.บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)
สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ ประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม จากราคาหุ้นไม่แพงและเศรษฐกิจฟื้นตัว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 66)
Tags: SET, ตลาดหุ้นไทย, นักลงทุน, พอร์ตการลงทุน, พอร์ตหุ้น, วทัญ จิตต์สมนึก, หุ้นไทย, อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล