กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดแนวมาตรการแยกกักตัวในเขตพื้นที่ชุมชน (Community Isolation) ผลักดันผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการรุนแรงเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับการกักตัวภายในชุมชน เพื่อลดปัญหาจำนวนเตียงที่ไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนทุกกลุ่มอายุที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ให้สามารถเข้าระบบการรักษาเร็ว
สถานที่สำหรับแยกกักตัวในชุมชน ควรมีลักษณะดังนี้
- เป็นที่โล่งๆ เช่น ศาลาวัด หอประชุมโรงเรียน แคมป์คนงาน หรือหมู่บ้านที่มีที่แยกตัวให้กับผู้ติดเชื้อ
- ใช้กักตัวไม่เกิน 200 คน เพื่อลดความแออัด
- มีสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ แยกน้ำเสีย หรือขยะออกจากชุมชนได้
Community Isolation มีเกณฑ์ปฏิบัติ ดังนี้
- ผู้ติดเชื้อต้องสมัครใจ และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้
- มีช่องทางสื่อสารผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์วิดีโอคอล ติดตามอาการทุกวันโดยแพทย์ พยาบาลวันละ 2 ครั้ง และมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน
- ต้องลงทะเบียนกับสถานพยาบาล (มีแผนขยายไปยังชุมชนอบอุ่น และสถานพยาบาลใกล้บ้าน)
- จะมีการตรวจอุณหภูมิ และตรวจวัดออกซิเจนในเลือด โดยแนะนำวิธีทดสอบง่ายๆ ว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ คือให้วัดออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังออกกำลังกาย หากออกซิเจนลดลงมากกว่า 3% จะให้ผู้ป่วยรักษาที่โรงพยาบาล
- จัดเตรียมระบบรีเฟอร์ผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน
ผู้ป่วยที่เข้าร่วมแยกกักตัวในชุมชนจะได้รับสนับสนุน ได้แก่ การวัดอุณหภูมิ การวัดออกซิเจนในเลือด การดูแลอาหารครบ 3 มื้อ และมีแพทย์พยาบาลติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ด้วยระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) นอกจากนี้จะดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยให้ทางโรงพยาบาลเมื่ออาการเปลี่ยนแปลงด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 64)
Tags: Community Isolation, COVID-19, กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, แยกกักตัวในชุมชน, โควิด-19