WHO แจ้งเมอร์คขอข้อมูลยาโมลนูพิราเวียร์ ก่อนให้การอนุมัติ

แพทย์หญิงมาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าแผนกโรคโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า WHO กำลังขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค เกี่ยวกับยาโมลนูพิราเวียร์ และ WHO หวังว่าจะมีการออกแถลงการณ์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเกี่ยวกับแนวทางการใช้ยาดังกล่าวเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงและอาการปานกลาง

“นี่เป็นยาที่เรากำลังทำการประเมินอยู่ และเราจะพบกับตัวแทนจากเมอร์คในวันพรุ่งนี้เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกซึ่งมีการดำเนินการในประเทศต่างๆ และเราหวังว่าจะมีข่าวดีในอีกไม่กี่สัปดาห์”

แพทย์หญิงฟาน เคิร์กโฮฟกล่าว

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเมอร์คระบุว่ามีประสิทธิภาพต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา

เมอร์คเปิดเผยว่า ยาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%

ผลการทดลองในระยะที่ 3 พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จำนวนเพียง 7.3% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 14.1% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย

อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 775 รายได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่แสดงอาการ และถูกสุ่มให้ยาโมลนูพิราเวียร์หรือยาหลอกภายในเวลา 5 วันจากที่เริ่มมีอาการ

ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน และแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการมีอายุมากกว่า 60 ปี

เมอร์คได้ทำการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ในระยะที่ 3 ในสถานที่มากกว่า 170 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในสหรัฐ บราซิล กัวเตมาลา อิตาลี แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน

เนื่องจากยาโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่โปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนโควิด-19 ทั่วไป จึงทำให้ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์ก็ตาม

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์จะเล็งเป้าหมายไปที่ viral polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความจำเป็นต่อไวรัสโควิด-19 ในการคัดลอกตัวเองเพื่อแพร่กระจายออกไป โดยยาโมลนูพิราเวียร์จะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสเกิดความผิดพลาดจนไม่สามารถขยายจำนวนมากขึ้น

ผลการศึกษาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากผู้ป่วยได้รับยาในช่วงแรกของการติดเชื้อ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , ,