นายเชาไค ฟาน หัวหน้าฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิกของสภาทองคำโลก (WGC) คาดการณ์ว่า สิงคโปร์จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการซื้อขายทองคำระดับแนวหน้า ในช่วงเวลาที่การซื้อขายทองคำเคลื่อนย้ายไปสู่ฝั่งตะวันออก
นายฟานกล่าวว่า หนึ่งในเหตุผลของการคาดการณ์ดังกล่าวคือปริมาณการใช้ทองคำในกลุ่มตลาดเกิดใหม่กำลังปรับตัวสูงขึ้น และการซื้อขายส่วนใหญ่ในตลาดเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในเอเชีย ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือการที่สิงคโปร์มีความใกล้ชิดกับธนาคารกลางในเอเชีย ซึ่งธนาคารกลางเหล่านี้เข้าซื้อทองคำอย่างคึกคัก
“จุดศูนย์ถ่วง (center of gravity) ของตลาดทองคำได้เคลื่อนย้ายไปยังฝั่งตะวันออกแล้ว โดยสิงคโปร์อยู่ในสถานะที่มีศักยภาพสูงพอที่จะรองรับความสมดุลใหม่นี้” นายฟานกล่าวในการประชุมโลหะมีค่าเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Precious Metals Conference) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า จีนเป็นประเทศที่ใช้ทองคำมากที่สุดในโลก และธนาคารกลางจีนก็เป็นผู้ซื้อทองคำแท่งรายใหญ่ที่สุดเนื่องจากจีนต้องการเพิ่มปริมาณทองคำสำรอง โดยในบรรดาธนาคารกลางต่าง ๆ ของโลกนั้น ธนาคารกลางจีนเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดในปี 2566
ข้อมูลของ WGC ระบุว่า อุปสงค์ทองคำในญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวเช่นกัน โดยอุปสงค์เครื่องประดับทองคำในญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 1 ทำสถิติแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2562 นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเพิ่มการซื้อทองคำรายไตรมาสมากที่สุดในรอบกว่า 2 ปี
นายฟานกล่าวว่า สิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะเป็น “ทางเลือกที่มีโอกาสเติบโตที่แท้จริง” ในการเป็นศูนย์กลางซื้อขายทองคำในหมู่ธนาคารกลางที่นอกเหนือไปจากลอนดอนและนิวยอร์ก
“สิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้นำในตลาดทองคำในอนาคต” นายฟานกล่าว โดยระบุว่าปัจจัยอื่น ๆ ที่สนับสนุนมุมมองดังกล่าวคือการที่สิงคโปร์มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเสถียรภาพด้านการเมืองและยกเลิกภาษีการขายสำหรับการลงทุนในทองคำ
ทั้งนี้ ในเดือนต.ค. 2555 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศยกเว้นภาษีสินค้าและการบริการ (GST) หรือภาษีการขาย สำหรับโลหะมีค่าที่ลงทุนได้ (investment grade)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มิ.ย. 67)