WealthMePlease: รายจ่ายเพียบ-หนี้ท่วม แต่อยากออม !! แจกทริค “รวยก่อนแก่” พลิกชีวิตการเงิน

คงไม่มีใครอยากตกอยู่ในสภาพ “แก่ก่อนรวย” จะดีกว่าไหมถ้าเราเริ่มวางแผนการเงินเพื่อรับวัยเกษียณตั้งแต่เริ่มทำงาน หรืออย่างช้าไม่ควรเกินอายุ 40 ปี เพื่อให้เรามีเวลาเก็บเงินไว้ใช้ยามที่ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้แล้ว จะได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน

Wealth Me Please ใน EP นี้ มาพูดคุยกับนายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) ชี้ให้เห็นความสำคัญของการวางแผนการเงินในทุกช่วงวัยของชีวิต เปรียบเสมือนแผนที่นำทางชีวิตเพื่อไปสู่ช่วงเกษียณสุข โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยยิ่งต้องวางแผนเพราะมีเงินจำกัด ต้องไม่ใช้เงินอย่างสะเปะสะปะ หรือใช้ตามอารมณ์ ส่วนผู้ที่มีหนี้สินควรเร่งปลดหนี้แล้วค่อยมาวางแผนการเงินต่อไป

ก่อนเริ่มวางแผนการเงิน นายวิโรจน์ เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญ คือ ความตั้งใจ และ ความมุ่งมั่น ระหว่างเส้นทางชีวิตอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย อาทิ ตกงาน มีลูก มีคนที่ต้องอุปการะ เป็นต้น เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึง และคอยปรับแผนไปตลอดเวลา อย่างไรก็ดี แผนการเงินจะต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ตลอดอย่างน้อย 6 เดือนของค่าใช้จ่าย และอย่างบางอาชีพ เช่น กลุ่มคนที่ทำงานโรงแรม หรือ ร้านอาหาร อาจต้องสำรองมากถึง 12 เดือนด้วยซ้ำ

เริ่มต้นกับนักวางแผนการเงิน CFP ที่เขาจะใช้มาตรฐานสากลมาทำการวางแผนให้กับเรา เราต้องเตรียมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อมาประกอบการวางแผน ได้แก่ รายได้จากทุกช่องทาง เงินสด รวมถึงเงินฝากธนาคารรวมดอกเบี้ย สินทรัพย์ที่ครอบครองอยู่ อาทิ บ้าน รถ กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาหรู เครื่องประดับราคาแพง ของสะสม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงสินทรัพย์การลงทุน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนภาคสมัครใจเช่น กองทุน RMF ประกันชีวิตทุกกรมธรรม์ รายจ่ายทุกอย่าง ส่วนหนี้สิน ก็จดมาให้หมด ทั้งเงินต้น-ดอกเบี้ย ซึ่งขั้นแรกจะต้องเคลียร์หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงออกไปก่อน รวมถึงจำนวนผู้ที่เราต้องอุปการะ อีกทั้งกรมธรรม์ประกันชีวิต-ประกันภัยเพื่อดูว่าการบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างไร

การวางแผนเกษียณจะต้องชัดเจนว่าต้องการเกษียณอายุเท่าไร ต้องการใช้จ่ายเดือนละเท่าไร โดยต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อด้วยเพราะกว่าเราที่จะเริ่มใช้เงินในวัยเกษียณ เงินที่เก็บอาจไม่พอใช้ รวมถึงจะต้องรู้ว่ามีความฝันอะไรที่อยากทำ เมื่อวางแผนการเงินจะได้รู้ว่าฝันเราใหญ่หรือเล็ก เพียงพอกับเงินออมหรือไม่ หากไม่พอจะต้องปรับฝันให้เล็กลงกับเงินออม

นายวิโรจน์ เชื่อว่า ถ้าทุกคนวางแผนการเงินไว้เมื่อถึงวัยเกษียณก็ไม่ต้องกังวลมากและจะไม่เป็นภาระของใคร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 67)

Tags: , , , , ,