WealthMePlease: ปีมังกร “ตราสารหนี้” สุดโดดเด่น สายหุ้นดักเก็บ Big Cap ก่อน Flow เข้า

ปี 67 ถึงเวลาหรือยังที่นักลงทุนจะสามารถนำเงินสดที่ถือครองไว้มาสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี ซึง KKP มองว่าการลงทุนสินทรัพย์ต่างๆ ในปีหน้ายังเน้นแนะนำตราสารหนี้ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพและความเสี่ยงไม่สูง ส่วนหุ้น แนะนำทยอยเข้าลงทุน แต่ควรรอติดตามผลของการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งปีแรกของปีให้ดีก่อน

นายทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บล.เกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์ของการลงทุนเริ่มดีขึ้นตามลำดับจากปี 65 ที่ทั้งตราสารหนี้และหุ้นปรับตัวลงมาแรง และให้ผลตอบแทนแย่มาก หลังจากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นเร็ว ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ

และในปี 66 ยังเผชิญกับข่าวการล้มของธนาคารในสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุน จากความไม่แน่นอน แต่ถือว่าสถานการณ์ไม่ได้บานปลายออกไปมาก ทำให้ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง แม้จะยังไม่ได้ดีมาก เช่นเดียวกับตราสารหนี้ในปีนี้ก็อาจจะยังไม่ได้ดีมากนัก

แต่ในปี 67 ภาพรวมของการลงทุนจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ หลังจากธนาคารกลางต่างๆ ขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว และสามารถควบคุมเงินเฟ้ออยู่ในกรอบได้ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าเงินเฟ้อค่อยๆ ชะลอลงมา ส่งผลให้คาดว่าจะเริ่มเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางลงในปีหน้า โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกในวัฏจักรรอบนี้ ทำให้ภาพรวมการลงทุนดูดีขึ้น โดยเฉพาะตราสารหนี้และหุ้นที่ถูกกดดันมามาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง คือ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน, ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

KKP มองว่า สินทรัพย์ที่มีความโดดเด่นในปี 67 และเลือกมาเป็นอันดับแรกของการลงทุน คือ ตราสารหนี้ สามารถคาดหวังผลตอบแทนสูง แต่ต้องเน้นเรตติ้งสูงระดับ Investment Grade ซึ่งปัจจุบันให้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยสูงเฉลี่ย 4.5% ประกอบกับ หากปี 67 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก็จะทำให้ผลตอบแทนจากส่วนต่างเข้ามาเพิ่ม ทำให้ได้ผลตอบแทนราว 5-6%

รองลงมาอันดับ 2 คือ หุ้น แต่เน้นไปที่ตลาดหุ้นที่ถูกดดันและปรับตัวลงมาพอสมควรในปี 66 ได้แก่ ตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่ (Emerging market) ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์กดดันตลาดหุ้นเกิดใหม่ ทำให้ถูกขายออกมามาก ในปี 66 ถือว่าราคาหุ้นในตลาดประเทศเกิดใหม่ปรับตัวลงมา ทำให้ราคาไม่แพงมาก และ P/E ไม่สูงมากนัก และยังมีโอกาสเห็นกำไรบริษัทจดทะเบียนในประเทศเกิดใหม่โต 20% ในปี 67 อีกทั้งยังลุ้นการโยกย้ายของเงินทุนที่มีโอกาสไหลกลับเข้าไปในหุ้นประเทศเกิดใหม่

ส่วนตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจเช่นเดียวกัน หลังจากปรับลงมาลึกพอสมควรแล้ว ขณะที่ภาพรวมของมุมมองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังเติบโตได้ 2.5% และในปี 67 จะมีแรงส่งจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต การส่งออกที่ดีขึ้น และการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนคาดว่าจะเติบโตได้ 17% ในปี 67 อีกทั้งราคาหุ้นยังไม่แพงเหมือนกับตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่

ขณะที่มองว่าตลาดหุ้นไทยอาจมีปัจจัยหนุนจากเงินทุนไหลกลับในปีหน้าหลังจากปีนี้ต่างชาติขายหุ้นไทยไปแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาท หากเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาจะเป็นบวกต่อหุ้นขนาดใหญ่ที่ได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มแรกๆ

ด้านสินทรัพย์ทางเลือกที่มองว่าเป็นโอกาสลงทุน คือ กอง REITs โดยเฉพาะ Global REITs ที่ก่อนหน้านี้ได้รับแรงกดดันมาจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้มีการเทขายออกมาและกดดันราคา แต่เมื่อดูการถือครองสินทรัพย์ Global REITs ส่วนใหญ่ยังเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี สามารถสร้างผลตอบแทนเข้ามาต่อเนื่อง และหนี้ลดลงไปมาก จึงมองว่าเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะกลับเข้าไปลงทุนได้ในกลุ่ม Global REITs มากกว่า REITs ไทยที่ความน่าสนใจน้อยกว่า ในเรื่องของสภาพคล่องที่ไม่สูง ระยะเวลาการเช่าสินทรัพย์ที่เกิน 20 ปีมีไม่มาก และส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มาจากสปอนเซอร์กองเป็นหลัก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , ,