บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ทิศทางของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ในช่วงไตรมาส 2/65 ยังคงทรงตัวในกรอบ 1,600-1,700 จุด แม้ว่าการแพร่ระบาดของ Omicron Variant ยังคงอยู่ แต่รัฐบาลนั้นได้วางแผนการปรับให้ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่นในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าและทยอยปรับมาตรการที่ยืดหยุ่นในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นผลบวกต่อภาคธุรกิจกลุ่มท่องเที่ยวและภาคการบริโภค ทั้งนี้เรายังคงน้ำหนักการลงทุนที่ระดับ Neutral โดยการบริโภคในประเทศและภาคการส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
นอกจากนี้ SET Index อาจจะพอมี Upside ในการปรับคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าจากการเปิดเมือง แต่เรามองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวหลักจากประเทศจีนที่ยังคงดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดรวมถึง Valuation ตลาด ณ ปัจจุบันค่อนข้างตึงตัว ดังนั้น ควรรอจังหวะเพื่อเข้าสะสมหาก SET Index มีการย่อตัวลงต่ำกว่าระดับ 1,610-1,630 จุด
บลจ.ยูโอบี ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1/65 ที่ผ่านมาส่งสัญญาณชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจเข้าสู่วัฏจักรระยะกลาง (Mid Cycle) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ปัญหาราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความกังวลของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นได้เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อที่มีอยู่เดิมและกดดันให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น สำหรับการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron Variant นั้นได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หลายๆ ประเทศเริ่มปรับมาตรการในการอยู่ร่วมกับ COVID-19 ในฐานะโรคประจำถิ่นและทยอยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง
สำหรับสภาวะการลงทุนของตลาดหุ้นในไตรมาส 1/65 มีการปรับฐานใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดฝั่งสหรัฐฯ หลังจาก Fed ได้ส่งสัญญาณการยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (Quantitative Easing : QE) และขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วขึ้นกว่าที่ตลาดคาดก่อนหน้านี้มาก รวมถึงอาจจะเริ่มการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening) ในช่วงกลางปีนี้เพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบหลายปี
ขณะที่เราปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐจาก Slightly Overweight เป็น Neutral แม้ว่าเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ดีอยู่แนวโน้มการเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านจุดสูงสุดในช่วงการฟื้นตัวไปแล้วและอยู่ในวัฏจักรเศรษฐกิจระยะกลางและที่สำคัญกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ระดับสูงและนานกว่าที่คาดไว้ตอนแรก ทำให้ธนาคารกลางต้องใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นและให้จับตาดูความสอดคล้องในการดำเนินนโยบายทางการเงินกับเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง หากธนาคารกลางดำเนินนโยบายที่เข้มงวดเกินไปอาจจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะทดถอย (Recession) ประกอบการสำหรับ Valuation ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นยังซื้อขายอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
เราแนะนำกระจายการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ทนทานต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ (Defensive Play) อย่าง หุ้นกลุ่ม Healthcare หรือกลุ่มหุ้นที่มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอและมีคุณภาพ (Quality Growth) โดยอาศัยจังหวะที่ตลาดหุ้นสหรัฐมีการปรับฐานจากความเสี่ยงข้างต้น ทยอยเข้าสะสมสำหรับการลงทุนในระยะกลาง-ยาวได้
ส่วนยุโรป เราได้ปรับมุมมองการลงทุนจากระดับ Neutral เป็น Slightly Underweight โดยแม้ว่า Valuation อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและมีปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจากการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศให้สามารถเดินทางภายใต้แนวทางการใช้ Vaccine Passport เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงจะมีการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กองทุน EU Recovery Fund ในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกยังคงมีอยู่ ทำให้ราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูง ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อในยุโรปที่มีอยู่เดิมและคาดว่าเงินเฟ้อจะยังเร่งตัวในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB จำเป็นต้องปรับนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น เช่น การปรับลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์และอาจจะยุติการเข้าซื้อทั้งหมดภายในไตรมาสที่ 3/2022 พร้อมกับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงปลายปี นอกจากนี้สำหรับประเด็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนน่าจะสรุปข้อยุติได้ อย่างไรก็ตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะไม่สามารถกลับไปสู่จุดเดิมได้และจะมีการจัดระเบียบใหม่ที่ลดการพึ่งพาระหว่างชาติสมาชิกในยุโรปกับรัสเซีย
ด้านญี่ปุ่น เมื่อพิจารณาจาก Valuation ณ ปัจจุบันถือว่ามีความน่าสนใจทั้งในมุมเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยในอดีตและเทียบกับบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ และมี Upside จากการเปิดประเทศ การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ที่มีความยืดหยุ่นหรือมี Policy Space ที่มากกว่าธนาคารกลางของประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ เนื่องจากระดับเงินเฟ้อที่ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% อยู่มากทำให้เราปรับมุมมองจากเดิมที่เป็น Neutral ไปเป็น Slightly Overweight
และ จีน ยังคงน้ำหนักการลงทุนในจีนที่ระดับ Slightly Overweight เนื่องจาก Valuation ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าสนใจและได้รับรู้ข่าวในเชิงลบไปมากแล้ว และเริ่มเห็นจุดเปลี่ยนในการดำเนินนโยบายทั้งการเงินการคลังไปในทิศทางที่สนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้นและคาดว่าจะได้เห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมตลอดปี 2022 เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งการลด RRR, Loan Prime Rate และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ สำหรับประเด็นการขาดแคลนพลังงานและห่วงโซ่อุปทานในจีนก็เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกันหลังจากรัฐบาลเข้ามาควบคุมการใช้ไฟฟ้าและราคานำเข้าวัตถุดิบสะท้อนจากตัวเลข PPI ที่ลดลง และ Industrial Production ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด รวมถึงให้จับตาดูการปรับมาตรการในการจัดการ COVID-19 ที่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นอย่าง Dynamic Zero COVID Policy
กลยุทธ์การลงทุน มองว่าในไตรมาส 2/652 ปัจจัยความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และ เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุน ดังนั้นการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Mode) ท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและไม่ควรที่จะกลัวการลงทุนมากไป (Too Bearish)
ด้วยตัวเลือกการลงทุนที่จำกัดในสภาวะปัจจุบัน การลงทุนในหุ้นยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในช่วงที่สภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง เนื่องจากสามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปในรูปแบบของราคาสินค้าหรือบริการที่สูงขึ้นได้บางส่วนทำให้การลงทุนในหุ้นสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้ด้วยเช่นกัน (Inflation Hedged) อย่างไรก็ดี ต้องอาศัยการคัดสรร (Selection) และ การกระจายการลงทุน (Diversification) ไปยังสินทรัพย์อื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย โดยเราแนะนำให้ถือเงินสดและทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วลงและกระจายการลงทุนออกไปยังหุ้นกลุ่มประเทศในฝั่งเอเชียที่มี Valuation ที่น่าสนใจและมี Upside จากการเปิดประเทศเพื่อลดความผันผวน
สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนในหุ้นสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วน
– ส่วนแรกพอร์ตลงทุนหลัก (Core Portfolio) ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกและกระจายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายและเหมาะสำหรับการลงทุนอย่างมีคุณภาพในธีมการเติบโตระยะยาว (Secular Growth Themes) อย่างเช่น UGQG, UEV, UNI เป็นต้น รวมถึงกองทุนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธีม ESG ของ บลจ.ยูโอบี อย่างเช่น UESG หรือ USUS ที่เน้นลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม (E : Environmental) สังคม (S : Social) และ ธรรมาภิบาล (G : Governance)
– ส่วนการลงทุนในส่วนที่ 2 เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการปรับพอร์ตการลงทุนในระยะสั้นตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป (Tactical Call) เราแนะนำแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 กลุ่มย่อยๆ คือ
1) การลงทุนในกลุ่ม Healthcare ในตลาดที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมีลักษณะทนทานต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ (Defensive Play) ที่จะสามารถลดความผันผวนได้ดีในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่เข้าสู่ Mid Cycle เรียบร้อยแล้วโดยเราแนะนำกองทุน UOBSHC ที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มเพื่อสุขภาพทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้พัฒนายารักษาโรคร้ายแรง การพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมไปถึงนวัตกรรมด้านการพบแพทย์และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ
2) การลงทุนในประเทศจีนที่ Valuation ณ ปัจจุบัน ได้ซึมซับข่าวร้ายไปมากแล้ว และเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายจากภาครัฐที่สนับสนุนตลาดมากขึ้นและคาดว่าตลาดจีนจะมี Sentiment ที่ดีขึ้นโดยเราแนะนำกองทุน UCI ที่เน้นลงทุนในหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาด A-Share ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนานวัตกรรมและการบริโภคในประเทศ รวมถึงกองทุน All-China อย่าง UCHINA ที่เน้นลงทุนในหุ้นจีนที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการเติบโตที่ดีตามภาพการบริโภคในจีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะยาว
3) การลงทุนในตลาดที่ยังมี Upside จากการเปิดประเทศในระยะข้างหน้าอย่างกลุ่มประเทศในฝั่งเอเชียเราแนะนำกองทุน UVO ที่เน้นลงทุนในหุ้นประเทศเวียดนามที่ศักยภาพในการเติบโตที่ดี และตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่เริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งและมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเราแนะนำกองทุน UOBSJSM ที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็กในประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 65)
Tags: กองทุนรวม, การลงทุน, บลจ.ยูโอบี, หุ้นไทย