TTB มอง “ทรัมป์ 2.0” ซ้ำเติมบาทผันผวนสูง แนะใช้เงินสกุลท้องถิ่นบริหารความเสี่ยง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) มีมุมมองว่า ค่าเงินบาทในปี 68 จะเผชิญกับความผันผวนสูงขึ้นกว่าช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่สูงอยู่ก่อนแล้ว จากบริบทเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไป ขณะที่ผลกระทบจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะการกีดกัดทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยซ้ำเติมความผันผวนของค่าเงิน แนะการบริหารความเสี่ยงค่าเงินผ่านการใช้เงินสกุลท้องถิ่น จะช่วยเตรียมพร้อมในการรองรับผลกระทบของความผันผวนได้บางส่วน

ttb analytics ระบุว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มาพร้อมกับนโยบายกีดกันทางการค้ารอบใหม่ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ทางการเงินโลกอย่างมีนัย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ซึ่งภาพดังกล่าวคาดว่าจะมีต่อเนื่องตลอดทั้งปี

โดยเปิดปี 68 เงินบาทปรับอ่อนค่าแตะระดับ 34.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนทยอยกลับมาเคลื่อนไหวทิศทางแข็งค่าแตะระดับต่ำสุด 33.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันเคลื่อนไหวใกล้เคียงระดับ 33.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลวันที่ 6 ก.พ. 68) เคลื่อนไหวตามพัฒนาการ และความคาดหวังของประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ ไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยนโยบายของทรัมป์ทั้งหมด แต่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ค่าเงินผันผวนสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากความเสี่ยงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มมากขึ้น และศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางมากขึ้น จากนโยบายกีดกันทางการค้าที่กำลังเกิดขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนจาก “ลบน้อย” เป็น “ลบมาก”

บริบทดังกล่าว ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และภาพดังกล่าวมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องในปีนี้ หากมาตรการของทรัมป์ ส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ค้างในระดับสูง หรือการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ไม่สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้มากเท่าที่คาด นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวมากกว่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าไทย

  • ความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มมากขึ้น

สัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีบทบาทกับการท่องเที่ยวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะปี 61-62 ที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาพดังกล่าว จึงลามไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและค่าเงินหยวนที่สูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากเทียบกับภูมิภาค เงินบาทถือเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีความสัมพันธ์ (Correlation) กับสกุลเงินหยวนสูง ดังนั้น แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจจีนที่เปราะบาง ตลอดจนผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อเศรษฐกิจจีน จะส่งผลต่อค่าเงินบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  • ศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่ลดลง และความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้า

ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่เปราะบาง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่การนำเข้าได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนราคาถูก ส่งผลต่อดุลการค้า ตลอดจนภาคการผลิตของไทย ในส่วนของการท่องเที่ยวไทยยังคงไม่ฟื้นตัวแตะระดับก่อนเกิดโควิด-19 ภาพดังกล่าวส่งผลต่อสัดส่วน ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ต่อ GDP ของไทยในช่วงหลังให้ต่ำลงจากในอดีต ยิ่งไปกว่านั้นเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากนโยบายของทรัมป์ เนื่องจากมีการเกินดุลกับสหรัฐฯ ในอันดับที่ 12 (ปี 66) และกลุ่มสินค้าที่ขาดดุลกับสหรัฐฯ หลายหมวด มีความเกี่ยวข้องกับจีนสูง

  • แนะใช้เงินสกุลภูมิภาค ช่วยลดความผันผวนจากความไม่แน่นอนของทิศทางการค้าโลก

จากทิศทางความผันผวนของค่าเงินบาทที่เพิ่มสูงขึ้นจากในอดีต ประกอบกับความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของทรัมป์ ที่จะซ้ำเติมให้ค่าเงินมีความผันผวนยิ่งขึ้นในปี 68 การใช้เงินสกุลท้องถิ่นสำหรับการค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้นำเข้าส่งออก อาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนได้ดีในช่วงนี้ โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้า

รวมถึงช่วยตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาความผันผวนที่สูงขึ้นของค่าเงินบาทในระยะยาว เนื่องจากเงินบาทเทียบกับสกุลภูมิภาค มีความผันผวนที่ต่ำกว่าค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนบริบทโครงสร้างการค้าไทยในปัจจุบัน ที่มีสัดส่วนการค้าในภูมิภาคที่สูง

ดังนั้น เมื่อค่าเงินบาทและเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน จะช่วยลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบกับในระยะหลัง ทางธนาคารกลาง ได้ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น ผ่านการเพิ่มสภาพคล่องเงินสกุลท้องถิ่นในประเทศ ปรับเกณฑ์ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนผลักดันการ Quote ราคาเงินสกุลท้องถิ่นเทียบเงินบาทโดยตรง

ttb analytics พบว่าโครงสร้างประเทศคู่ค้าในปัจจุบัน เปิดโอกาสในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น จากข้อมูลการค้าปี 67 ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับประเทศในภูมิภาคในเอเชียถึง 67.2% ซึ่งมีกลุ่มอาเซียนอยู่ในสัดส่วน 20% ขณะที่สัดส่วนกับสหรัฐฯ มีเพียง 12.3% สวนทางกับสัดส่วนสกุลเงินที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศประมาณ 3 ใน 4 ที่ยังคงใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ในการชำระค่าสินค้า

อย่างไรก็ดี ทิศทางการใช้เงินสกุลท้องถิ่น มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากปี 63 ที่มีสัดส่วน 18.3% เป็น 18.7% ในปี 67 โดยในกลุ่มอาเซียนมีการเพิ่มขึ้นจาก 23.9% เป็น 24.2% นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีความร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น พบว่า มีสัดส่วนการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ มาเลเซีย ที่พบว่ามีสัดส่วนการใช้เงินบาทและเงินริงกิต เพิ่มมากขึ้นจาก 14.9% เป็น 17.5%

โดยสรุป การกลับมาของทรัมป์สร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดการเงินโลก และเพิ่มความผันผวน ซึ่งซ้ำเติมค่าเงินบาทที่ผันผวนสูงอยู่แล้วตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงิน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ทั้งในรูปแบบ FX Forward และ Options

ตลอดจนการใช้สกุลเงินภูมิภาค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการป้องกันความเสี่ยง เนื่องจากสกุลเงินภูมิภาคส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน ประกอบกับโครงสร้างการค้าของไทย ที่ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการค้าในภูมิภาคที่สูง นอกจากนี้ ในปัจจุบันการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของทางการมีความชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนมีเครื่องมือและระบบการจัดการที่พร้อมมากขึ้น สำหรับการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 68)

Tags: , , , , , , ,