นางกนกพร จูฑา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายหน่วยงานของภาครัฐได้มีการยกระดับการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มมีโครงการต่างๆเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าธุรกิจและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินให้กับหน่วยงานต่างๆของภาครัฐผ่านช่องทางดิจิทัล การคืนเงินภาษีผ่านทางพร้อมเพย์ การให้ธนาคารเป็นตัวแทนหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยในปีที่ผ่านมามีจำนวนลูกค้าธุรกิจของทีเอ็มบีธนชาต มาสมัครใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคารเพิ่มขึ้นกว่า 30% และมีจำนวนรายการทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นกว่า 20%
ธนาคารทีเอ็มบีธนชาตได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและมีความตั้งใจที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของลูกค้าธุรกิจและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พร้อมร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาดิจิทัลโซลูชันเพื่อการชำระเงินให้แก่ภาครัฐ หรือ E-Government Payment ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาลูกค้าธุรกิจทั้งเรื่องต้นทุน เรื่องเวลาและเรื่องเอกสาร โดยธนาคารจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดำเนินการจ่าย หรือชำระเงินแทนผู้ประกอบการให้กับภาครัฐ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง โดยมีบริการหลักๆ ได้แก่
- 1) e-Tax (RD) ซึ่งประกอบไปด้วย บริการชำระภาษีกรมสรรพากรสำหรับภาษีนิติบุคคลทุกประเภท และทราบผลการชำระเงินผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรทันที และบริการหักภาษีและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย (e-Withholding Tax)
- 2) e-SSO บริการจ่ายสำนักงานประกันสังคม สำหรับเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และกองทุนเงินทดแทน รวมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมาย (ค่าปรับกรณีชำระเงินล่าช้า)
- 3) e-Student Loan บริการจ่ายเงินคืนกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ. ที่นายจ้างต้องหักจากลูกจ้างและนำส่งให้ทุกเดือน
- 4) e-Excise บริการจ่ายภาษีสรรพสามิต สำหรับธุรกิจเฉพาะ เช่น ภาษีสุรา แสตมป์ ยาสูบ และภาษีเฉพาะ อื่น ๆ ที่จ่ายกับกรมสรรพสามิต
- 5) e-Customs บริการสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกที่จ่ายภาษีให้กับกรมศุลกากร
- 6) e-ORRAF บริการชำระค่าธรรมเนียมการส่งยางออกไปต่างประเทศ โดยจ่ายกับการยางแห่งประเทศไทย
โดยการชำระเงินให้ภาครัฐผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งลักษณะนี้ จะเป็นการชำระเงินแบบเรียลไทม์ และได้รับใบเสร็จหลังการทำรายการทันที ลูกค้าสามารถเรียกดูรายงานได้ตลอดเวลาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง สามารถทำรายการชำระเงินภายในวันเดียวกัน หรือ กำหนดวันและเวลาชำระเงินล่วงหน้าได้ ซึ่งลูกค้าจะได้รับประโยชน์ คือ การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการจัดการเอกสาร ลดความผิดพลาดในการทำรายการ สามารถตรวจสอบรายการได้ และเป็นการทำธุรกรรมที่ปลอดภัย
ในฐานะที่ธนาคารผู้นำด้านดิจิทัลโซลูชันเพื่อลูกค้าธุรกิจ มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจให้แก่องค์กรไทย โดยเดินหน้าพัฒนาดิจิทัลโซลูชันอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะพัฒนาระบบการให้บริการร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการบริหารงานของลูกค้าธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การสร้างการเติบโตของลูกค้าธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป (Financial Well-being)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 64)
Tags: TTB, กนกพร จูฑา, การชำระเงิน, ธนาคาร, ธนาคารทหารไทยธนชาต, พร้อมเพย์, อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง