TTB ชี้แม้ท่องเที่ยวฟื้น แต่แตะนิวไฮเดิมยาก แนะเร่งยกระดับไทยเป็นช้อยส์แรก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ชี้สถานการณ์การท่องเที่ยวไทย เห็นสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 แต่เมื่อมองในมุมที่กว้างขึ้น พบว่าไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศที่ได้รับความนิยมในการท่องเที่ยวอื่น ๆ สัญญาณดังกล่าว อาจสะท้อนถึงไทยเริ่มเสื่อมมนต์ขลังในการดึงดูด โดยสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยอาจไม่ได้สดใสอย่างที่มองกันแบบผิวเผิน แต่อาจมีความท้าท้ายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในระยะยาว จากเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

1. นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา หรือจะไม่กลับมา จากความดึงดูดในเรื่องของอัตราการท่องเที่ยวซ้ำ เนื่องจากตลาดท่องเที่ยวไทยเป็นตลาดที่เข้าถึงง่าย จากค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ไม่สูง ส่งผลให้ตลาดไทยอยู่ในฐานะจุดหมายแรกของการเริ่มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ (Entry Level) ที่อาจได้ประโยชน์ในระยะแรก แต่อาจเริ่มถูกตั้งคำถามถึงอัตราการท่องเที่ยวซ้ำ (Revisit Intention) จากข้อจำกัดเรื่องการท่องเที่ยวในไทย ยังมีปัญหาซุกใต้พรมอยู่มาก เช่น ประสบการณ์ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาเรื่องการเดินทางจากคุณภาพการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะนอกเขตเมืองหลักของการท่องเที่ยว รวมถึงประเด็นเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ย่อมเปลี่ยนตามรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป

2. การท่องเที่ยวของไทย ยังมีตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปที่ไม่สูง โดยในปี 2567 นักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียน มีสัดส่วนมากถึง 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวรวม และเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่สูงมาก และมีระยะการพักแรมที่สั้นกว่า ดังนั้น การตั้งเป้าในเรื่องเชิงคุณภาพของจำนวนนักท่องเที่ยว อาจเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าด้านปริมาณ โดยสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้การท่องเที่ยวไทยยั่งยืน คือ ควรเน้นเรื่องคุณภาพนักท่องเที่ยวมากกว่าเชิงปริมาณ

3. โครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทย ยังกระจุกตัวอยู่ในแค่ในกรุงเทพมหานค รและหัวเมืองใหญ่เกือบ 90% จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดให้เกิดการท่องเที่ยว และมีการใช้จ่ายท่องเที่ยวได้มากขึ้น หากมีระบบการเดินทางที่ครอบคลุมเชื่อมโยงมากขึ้น

  • คาดปีนี้ต่างชาติเข้าไทย 37.8 ล้านคน แนวโน้มโตชะลอในปี 69

จากสาเหตุเหล่านี้ ttb analytics จึงมองในปี 2568 ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย ยังคงได้รับอานิสงส์บ้างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ เช่น นักท่องเที่ยวจากอินเดีย จากการที่รายได้ต่อหัวของอินเดียปรับเพิ่มขึ้น (GDP Per Capita) ถึง 73.1% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้คนอินเดียสามารถเข้าถึงการท่องเที่ยวต่างประเทศได้มากกว่าในอดีต และจากการที่ไทยอาจมีฐานะเป็นจุดหมายแรกของการเริ่มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ (Entry Level) ก็อาจได้ประโยชน์ แต่การเพิ่มนักท่องเที่ยวของอินเดียดังกล่าว ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่สามารถชดเชยนักท่องเที่ยวจีน ที่ “ยังไม่กลับ หรืออาจไม่กลับ”

คาดว่าปี 2568 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 37.8 ล้านคน และอาจเริ่มเติบโตชะลอลงในปี 2569 จากนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่ยังไม่สามารถชดเชยนักท่องเที่ยวจากจีนที่ขาดหายไปได้

ดังนั้น ในมุมมองของ ttb analytics จึงเสนอแนะว่า ไทยควรเตรียมรับมือจากข้อจำกัดข้างต้นที่กล่าวไว้ ดังต่อไปนี้

1. การพำนักระยะยาว (Long Stay) เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากปกตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่ท่องเที่ยวรายครั้งจะมีระยะเวลาพักผ่อนในไทยราว 6-8 วัน สำหรับนักท่องเที่ยวเอเชีย และ 14-17 วันสำหรับนักท่องเที่ยวจากยุโรป สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย ในขณะที่ถ้าไทยสามารถดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้ว คาดว่าจะมีการใช้จ่ายมากกว่าการท่องเที่ยวรายครั้ง 10-12 เท่า นอกจากนี้ การได้รับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว ย่อมเป็นฐานในการสร้างรายได้ในปีถัด ๆ ไป

การเพิ่มบทบาทของนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการที่เน้นให้ภาคการท่องเที่ยวไทยใส่ใจคุณภาพได้มากกว่าการเน้นในด้านปริมาณ พร้อมกับการที่ภาครัฐควรจริงจังมากขึ้น ในการดำเนินนโยบายด้านการให้ความสะดวก สำหรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวที่ในปัจจุบันอาจมีความสะดวกในเรื่องของวีซ่า แต่ความพร้อมและความสะดวกในการดำรงชีพยัง ถือว่าไม่มีความพร้อม เช่น การครอบครองที่อยู่อาศัย สิทธิในการรักษาพยาบาลแบบรับผิดชอบรวม เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพำนักระยะยาวในไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบันอย่างมีระบบแบบแผน

2. การอาศัย Location เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวจากประเทศที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย ที่ใช้เวลาท่องเที่ยวไม่นานนัก เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ เดินทางมาไทยด้วยเที่ยวบินระยะสั้น (Short Haul) ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่ำ และใช้เวลาในการเดินทางไม่มาก รวมถึง ในพื้นที่ดังกล่าวพบว่ายังมีประเทศที่มีศักยภาพในเชิงของกำลังซื้อที่สูงกว่าไทย เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน รวมถึงกลุ่มประเทศใหญ่ที่ยังมีศักยภาพในการขยายตัวด้านปริมาณอย่างมหาศาลจากฐานประชากรที่ใหญ่อย่างอินเดีย เป็นต้น

“ด้วยศักยภาพของการท่องเที่ยวไทย ที่อยู่บนทรัพยากรที่จำกัด ภาครัฐ และผู้ประกอบการ ควรเร่งปรับลดข้อจำกัด ลดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง ยกระดับคุณภาพ ลดการเน้นปริมาณ เพื่อยกระดับการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้เป็นทางเลือกลำดับแรก ๆ และคุ้มค่าที่จะกลับมาเที่ยวซ้ำ เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต” บทวิเคราะห์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 68)

Tags: , , , , ,