ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ประเมินการตัวเลขการท่องเที่ยวในประเทศปี 66 ขยับเพิ่มต่อเนื่องอีก 25.4% จากปีก่อนที่เติบโตสูงกว่า 182.2% จากความสำเร็จของนโยบายรัฐผ่านท่องเที่ยวเมืองรอง และโปรเจกต์ Unseen New Series ที่ช่วยขยายศักยภาพเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ให้เพิ่มขึ้น ประกอบกับการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวใหม่ผ่านกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวไทยปรับเพิ่มขึ้น ก้าวข้ามจุดสูงสุดเดิมมาแตะที่ระดับ 254.4 ล้านคน/ครั้ง บนศักยภาพที่ยังไปต่อได้อีก
ttb analytics ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศปี 66 มีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่องอีก 25.4% จากปีก่อนที่โตทะยานสูงกว่า 182.2% ขยับมาแตะที่ 254.4 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจุดสูงสุดของนักท่องเที่ยวชาวไทยในปี 62 จำนวน 229.7 ล้านคน/ครั้ง
สะท้อนความสำเร็จในการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ ผ่านนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ที่ช่วยยกระดับเมืองที่ยังไม่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจเพียงพอ ให้มีการสร้างและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีความดึงดูดน่าสนใจมากขึ้น รวมถึงโปรเจกต์ Unseen New Series ที่พัฒนาคู่ขนานต่อยอดการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ทั้งในเมืองท่องเที่ยวหลัก หรือเมืองรองให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทรนด์สังคมและกระแสในโลกดิจิทัล ทำให้การท่องเที่ยวถูกเปลี่ยนมุมมองจากเรื่องการพักผ่อนให้เป็นในรูปแบบการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้ ทั้งทางตรงด้วยการรีวิว หรือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างรายได้จากผู้ติดตามผ่านยอดการเข้าชม รวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้ติดตามในช่องทางสื่อออนไลน์ส่วนบุคคล ยังช่วยสร้างรายได้ทางอ้อมอีกด้วย เช่น ค่าโฆษณา ค่าพรีเซนเตอร์ หรือแม้แต่ผลประโยชน์ที่ไม่อยู่ในรูปตัวเงิน เช่น ส่วนลดค่าที่พักและอาหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ ส่งผลต่อการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่ถูกยกระดับผ่านนโยบายรัฐ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายท่องเที่ยวเมืองรอง หรือโปรเจกต์ Unseen New Series ที่ประสบความสำเร็จด้วยกรอบเวลาที่สั้นลง เนื่องจากการศึกษาชี้ว่า กว่า 84% ของการเลือกจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว ได้รับอิทธิพลจากการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวผ่านกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์
ด้วยอานิสงส์นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และโปรเจกต์ Unseen New Series ที่ช่วยยกระดับการท่องเที่ยวในประเทศในแต่ละภูมิภาคและจังหวัด ที่มีทั้งข้อดี และข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันออกไป ttb analytics จึงประเมินศักยภาพตลาดออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มเมืองหลักที่ยกระดับศักยภาพ คือ กลุ่มเมืองท่องเที่ยวหลักในแต่ละภูมิภาค ที่ปกติมีนักท่องเที่ยวเกินกว่า 4 ล้านคน/ครั้ง/ปี สามารถยกฐานของนักท่องเที่ยวในจังหวัดให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านจุดแข็งของแต่ละจังหวัด เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านจุดขายการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และในกลุ่มจังหวัดที่ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวแบบพักแรม โดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ เช่น จังหวัดชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี และสุราษฎร์ธานี
2. กลุ่มเมืองรองที่มีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะดึงดูดให้พักค้างแรม คือ กลุ่มเมืองท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหรือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด ให้มีความหลากหลาย และน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกัน หรือนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นที่ตัดสินใจเดินทางเพื่อท่องเที่ยวแบบค้างแรมได้ เช่น จังหวัดสมุทรสงคราม และเชียงราย หรือจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแลนด์มาร์กสำคัญ เช่น บุรีรัมย์ เป็นต้น
3. กลุ่มเมืองรองที่อยู่ในช่วงยกระดับพัฒนาศักยภาพ มีลักษณะการท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ คือกลุ่มจังหวัดที่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวในภูมิภาคหรือใกล้เคียง เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี และฉะเชิงเทรา ที่รองรับนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เป็นพื้นที่มีจำนวนประชากรสูง รวมถึงเมืองรองที่เป็นพื้นที่แบบไปเช้า-เย็นกลับของจังหวัดในบางภูมิภาค เช่น จังหวัดลำปาง ที่เป็นพื้นที่เมืองรองที่น่าสนใจของจังหวัดใกล้เคียงในภูมิภาคทางเหนือของไทย และเป็นจุดแวะพักสำคัญของเส้นทางไปยังหลายจังหวัดท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือที่น่าสนใจหลายจังหวัด
4. กลุ่มยกระดับพัฒนาการท่องเที่ยวแบบรวมกลุ่มจังหวัด คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยอาศัยศักยภาพของจังหวัดที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกัน เพื่อเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวซึ่งกันและกัน อันช่วยเพิ่มระยะเวลาท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดต่างๆ ที่มีพื้นที่ติดต่อกันในแต่ละภูมิภาค เช่น ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการยกระดับการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดนครพนม-สกลนคร ภาคเหนือในกลุ่มจังหวัดน่าน-พะเยา-แพร่ รวมถึงกลุ่มจังหวัดยะลา-นราธิวาส ในภูมิภาคทางใต้ของไทย
ttb analytics คาดว่า ปี 66 เป็นปีที่การท่องเที่ยวในประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากผลสัมฤทธิ์ของนโยบายการส่งเสริมเมืองรองและโปรเจกต์ Unseen New Series ที่ช่วยสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในจังหวัดต่างๆ เป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งนโยบายเหล่านี้ ภาครัฐควรเร่งต่อยอดความสำเร็จให้การท่องเที่ยวไทยยังไปต่อได้อีก ทั้งมิติของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยพยายามพัฒนาเมืองรองใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ และเริ่มมุ่งเน้นความสำคัญในมิติรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มเติมจากการขับศักยภาพพัฒนาการท่องเที่ยวไทย ดังนี้
– ยกระดับกลุ่มเมืองรอง ที่มีศักยภาพดึงดูดให้นักท่องเที่ยวค้างแรม ให้กลายเป็นเมืองหลักการท่องเที่ยวใหม่ เพื่อสร้างจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวแต่ละภูมิภาคเพิ่มเติม
– สร้างเสริมศักยภาพท่องเที่ยวเมืองรองแบบไปเช้า-เย็นกลับ ให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวค้างแรมได้เพิ่มขึ้น เพิ่มเม็ดเงินที่หมุนเวียนในจังหวัด และสร้างโอกาสการท่องเที่ยวในเมืองที่มีพื้นที่คาบเกี่ยวกัน
– พัฒนากลุ่มเมืองรองที่มีศักยภาพที่มีพื้นที่ติดต่อกัน เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบกลุ่มจังหวัด เพื่อเพิ่มศักยภาพในอัตราเร่งและระยะเวลาที่ใช้ในการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อสร้างเงินหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกลุ่มจังหวัดการท่องเที่ยวต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 66)
Tags: TTB, การท่องเที่ยว, ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี, ไทยเที่ยวไทย