ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดการปรับเพิ่มราคาน้ำตาลทราย ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคครัวเรือน และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีข้อจำกัดในการขึ้นราคาสินค้า พร้อมสนับสนุนมติภาครัฐที่เห็นชอบให้น้ำตาลทรายกลับเป็นสินค้าควบคุมราคา พร้อมเน้นสนับสนุนให้เกษตรกรไร่อ้อย และผู้ผลิตน้ำตาล เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุน หรือมาตรการลดภาษีให้ผู้ผลิต มากกว่าการเพิ่มราคาที่จะส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ออกประกาศเรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567
โดยมีผลทำให้ราคาน้ำตาลทรายขาวเพิ่มขึ้นจาก 19 บาท/กิโลกรัม เป็น 23 บาท/กิโลกรัม และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกิโลกรัมละ 20 บาท เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 24 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกที่ประชาชนต้องใช้จ่ายเพื่อการบริโภค หรือเพื่อเป็นวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้นสูงจาก 24-25 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 28-29 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 17%
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำตาลทรายย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่มีการใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบทางตรง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมของหวานและเบเกอรี รวมถึงกลุ่มที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบทางอ้อมในลักษณะเครื่องปรุงรส เช่น ผู้ประกอบการร้านอาหาร
ttb analytics ประเมินว่า การที่น้ำตาลทรายขึ้นราคาส่งผลกระทบค่อนข้างจำกัด โดยกำไรขั้นต้น (กำไรที่ยังไม่หักต้นทุนการขาย การดำเนินการ และต้นทุนทางการเงินอื่น) ของกลุ่มเครื่องดื่ม เช่น ผลิตภัณฑ์นม และน้ำอัดลม อัตรากำไรขั้นต้นจะลดลง 1.2% และ 2.6% ตามลำดับ ในส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมหวาน กำไรขั้นต้นลดลง 0.5%-3% ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้น้ำตาลทรายในขนมหวานแต่ละประเภท ในขณะที่ผู้ขายอาหารตามสั่ง พบพื้นที่กำไรขั้นต้นลดลง 0.4%-0.6%
อย่างไรก็ตาม พื้นที่กำไรที่ลดจากผลกระทบของราคาน้ำตาลทรายที่ปรับเพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากกลไกของราคาแต่มาจากนโยบายภาครัฐ จึงอาจไม่เป็นธรรมกับฝั่งของผู้ประกอบการที่กำไรลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางส่วนอาจมีการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผ่านการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งอาจกระทบกับภาคประชาชนและผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดในการขึ้นราคา
โดย ttb analytics ได้แบ่งผลกระทบจากการขึ้นราคาน้ำตาลทรายโดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ประชาชนและภาคครัวเรือน อาจต้องรับภาระที่ค่าครองชีพปรับเพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากการขึ้นราคาน้ำตาลทรายครั้งนี้กระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ และด้วยสาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากกลไกราคาแต่เกิดจากที่มีประกาศให้ขึ้นราคาตามตลาดโลก จึงมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีบทบาทสูงสะท้อนผ่านสัดส่วนรายได้สูงถึง 98% ของมูลค่าตลาด รวมถึงช่องทางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ราคาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมักขึ้นราคาเป็น บาท/หน่วย และ การที่ราคาเครื่องดื่มตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปมีการปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท หมายถึงรายรับของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นที่ 5-10% ส่งผลให้ในกลุ่มผู้ประกอบการที่ส่งผ่านราคาได้ มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นประมาณ 3.4% – 6.5% จากราคาที่ปรับเพิ่ม
รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กที่มีความได้เปรียบในทำเลอาจส่งผ่านราคา โดยตามธรรมชาติการเพิ่มราคาของผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะเพิ่มราคาต่อเมนูขั้นต่ำที่ 5 บาท ส่งผลต่อรายรับที่อาจสูงขึ้นราว 10% ส่งผลให้ร้านอาหารที่ขึ้นราคาได้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นราว 5.6% รวมถึงโดยธรรมชาติของสินค้าบริโภคขั้นสุดท้ายราคาจะมีความหนืด (Price Rigidity) ในการปรับราคาลง
2. ธุรกิจ SMEs รายย่อย เช่น ผู้ประกอบการอาหาร และขนมหวานรายย่อย แม้พื้นที่กำไรอาจไม่ส่งผลกระทบมากแต่ด้วยปริมาณการขายที่ไม่สูงมากนักส่ง ผลให้มีความกังวลว่าถ้าขึ้นราคาอาจส่งผลต่อยอดขาย เช่น กลุ่มผู้ประกอบการที่มีรายได้ประมาณ 2,000 บาทต่อวัน กำไรขั้นต้นของร้านอาหาร และผู้ผลิตของหวานจะอยู่ที่ราว 800-830 บาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าแรงงาน ค่าเช่า พื้นที่กำไรที่เหลืออาจค่อนข้างจำกัดเพื่อใช้ยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว
อย่างไรก็ดี เมื่อมีปัจจัยเรื่องต้นทุนจากราคาน้ำตาลทรายที่เพิ่มขึ้น กดดันให้กำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ลดลงเหลือ 790-810 บาทต่อวัน และด้วยรายได้ที่แต่เดิมจำกัดในการยังชีพ เมื่อประสบภาวะต้นทุนที่ปรับเพิ่มจากราคาน้ำตาลทรายที่แม้ไม่สูงมาก แต่อาจส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัวได้
โดยสรุป การประกาศขึ้นราคาน้ำตาลทรายอาจส่งผลดีต่อผู้ผลิตน้ำตาลทราย เกษตรกรชาวไร่อ้อย และ ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการส่งผ่านราคา แต่ผลดีดังกล่าวถูกดึงมาจากภาคครัวเรือน และ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถส่งผ่านราคาได้
ประกอบกับเหตุผลของการขึ้นราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้ตามที่ สอน. ให้เหตุผลว่าปรับตามราคาตลาดโลก ก็ต้องมองย้อนกลับไปที่สาเหตุว่า เพิ่มขึ้นจากการที่อินเดียระงับการส่งออกน้ำตาลทรายจากผลผลิตที่ลดลง เพื่อใช้บริโภคในประเทศและไม่ให้กระทบความเป็นอยู่ของภาคประชาชน แต่ในทางกลับกัน การปรับเพิ่มราคาขายในประเทศจะกลายมาเป็นภาระต้นทุนให้กับภาคประชาชน มากกว่ากรณีของอินเดียที่ประกาศขยายการควบคุมการส่งออกน้ำตาลทราย เพื่อควบคุมราคาภายในประเทศ
ดังนั้น ttb analytics จึงสนับสนุนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบให้น้ำตาลทรายกลับเป็นสินค้าควบคุม และเสนอเรื่องการช่วยเหลือผู้ผลิตน้ำตาลทราย เกษตรกรชาวไร่อ้อย อาจใช้เรื่องของการให้เงินสนับสนุน เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรไร่อ้อย หรือมาตรการลดภาษีให้กับผู้ผลิตน้ำตาลทราย แทนที่จะขึ้นราคาสินค้าที่อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 66)
Tags: ttb analytics, น้ำตาลทราย, ราคาน้ำตาล, ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี