นายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เปิดเผยว่า แนวโน้มในช่วงไตรมาส 4/64 หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลายลง ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ มาต่อเนื่อง รวมถึงได้เริ่มมีการเปิดประเทศ ทำให้ภาพรวมของกิจกรรมในประเทศเริ่มกลับมา ส่งผลบวกต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 4/64 และความมั่นใจของประชาชนกลับมาฟื้นขึ้น ส่งผลบวกต่อธนาคาร โดยเฉพาะในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อที่จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นและเริ่มเห็นการเติบโตในช่วงไตรมาส 4/64
โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันสินเชื่อของธนาคารยังหดตัวที่ 2.4% โดยผลกระทบมาจากการที่สินเชื่อในไตรมาส 3/64 เกิดการชะลอตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะสินเชื่อกลุ่มหลักของธนาคาร คือ สินเชื่อรายย่อยที่หดตัวไปกว่า 1% และหดตัวมาตั้งแต่ต้นปีราว 2% และสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่ที่แม้ว่าจะมีการเบิกใช้สินเชื่อในช่วงไตรมาส 3/64 บ้าง แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/64 เพียง 1% แต่เมื่อเทียบตั้งแต่ต้นปี 64 ยังหดตัวอยู่ 3%
อย่าไรก็ตาม จากสถานการณ์ในประเทศที่กลับมาดีขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันธนาคารเริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น แม้ว่ายังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออยู่ก็ตาม และความต้องการใช้สินเชื่อของลูกค้าเริ่มกลับมา มีการเข้ามาขอสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินเชื่อหลักที่ธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่คาดว่าจะเริ่มมีการใช้สินเชื่อเพื่อลงทุนต่างๆในการรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้การปล่อยสินเชื่อในช่วงไตรมาส 4/64 จะเห็นการฟื้นตัวขึ้นกลับมาเป็นบวกได้ และทำให้สินเชื่อทั้งปี 64 ของธนาคารเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดว่าจะทรงตัว
ด้านแนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในช่วงไตรมาส 4/64 คาดว่ายังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นได้บ้าง จากกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 3/64 ที่ได้รับผลกระทบมาก และไม่สามารถจัดชั้นจาก Stage 1 ไปที่ Stage 2 และ 3 ในช่วงไตรมาส 4/64 ทำให้โอกาสที่ NPL จะเพิ่มขึ้นได้จากไตรมาส 3/64 ที่อยู่ในระดับ 2.98% แต่คาดว่า NPL ในสิ้นปี 64 จะไม่เกินระดับที่ธนาคารควบคุมที่ 3.6% โดยที่ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลและให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและทำให้ลูกค้ายังกลับมาชำระหนี้ได้
ขณะที่การตั้งสำรองฯในช่วงไตรมาส 4/64 ยังคาดว่าจะตั้งอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาส 3/64 ราว 5.5 พันล้านบาท จากการที่ธนาคารยังคงป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของ NPL ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 3/64 ยังมีลูกค้าบางรายที่ไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ ทำให้ธนาคารยังต้องมีการตั้งสำรองฯในระดับสูงให้สอดคล้องกับ NPL ที่ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้น โดยที่ระดับ Coverage ratio ของธนาคารจะอยู่ในกรอบที่ 160-180% ซึ่งในไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 161%
ในส่วนปี 65 หากสถานการณ์โควิด-19 สามารถควบคุมได้ สถานการณ์กลับมาเป็นปกติต่อเนื่อง ธนาคารคาดว่าจะเห็นการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อและรายได้ของธนาคารที่จะเห็นการฟื้นตัวขึ้น ซึ่งธนาคารเตรียมกลับมารุกการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่ก็ยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในบางกลุ่ม เพื่อควบคุมคุณภาพของสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้สินเชื่อในปี 65 ของธนาคารเห็นการกลับมาเติบโต
ขณะที่ในส่วนรายได้ของธนาคารจะมาจากรายได้จากการขายประกันและการลงทุนต่างๆที่กลับมามากขึ้น หลังจากภาพรวมของเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยที่ธนาคารจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ตอบโจทย์ความต้องการของลุกค้ามากขึ้นทั้งในส่วนของประกันและการลงทุน รวมไปถึงการปรับปรุงแอปพลิเคชั่น TTB Touch ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ในช่วงไตรมาส 1/65 ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และสะดวกในการใช้งานมากขึ้น รวมถึงมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆของธนาคารผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อสร้างโอกาสในการให้ลูกค้าเข้าถึงการซื้อผลิตภัณฑ์และใช้บริการได้ง่ายมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 64)
Tags: TTB, ธนาคารทหารไทยธนชาต, นริศ อารักษ์สกุลวงศ์, สินเชื่อ, หุ้นไทย