TTB คาดรายได้ 5 พืชเกษตรหลักลด 4% แนะเร่งรับมือภัยแล้งส่อกระทบยาวถึงปี 68

ttb analytics คาดปี 67 รายได้เกษตรกร 5 พืชหลักลดลงราว 4% จากแรงกดดันของปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกัน 2 ปี จากปริมาณฝนที่น้อยลง กระทบผลผลิตเกษตรตั้งแต่ปี 67 และอาจลากยาวถึงปี 68 แนะเกษตรกรเร่งปรับตัวรับมือกรณีภัยแล้งที่อาจยาวนานกว่าคาด

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) รายงานว่า จากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2565 เศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยมีมูลค่า 1.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 9.1% ของขนาดเศรษฐกิจรวมทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญเชิงระบบของภาคเศรษฐกิจไทย พบว่า มีความสำคัญเป็นอย่างมากในมิติของการเป็นแหล่งงานให้กับคนเกือบ 13 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 32.2% ของจำนวนแรงงานทั่วประเทศ รวมถึงมิติการกระจายรายได้ ที่แรงงานภาคเกษตรเป็นกลไกสำคัญในการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน ที่ไม่ได้มีการกระจุกตัวเหมือนกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ในมิติเชิงลึกของเศรษฐกิจภาคเกษตร แบ่งออกเป็น 5 พืชหลัก ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยในปี 65 กว่า 8.75 แสนล้านบาท โดยปรับเพิ่มสูงขึ้นจากปี 64 ราว 12.7% จากสถานการณ์ฝนที่เอื้ออำนวยต่อผลผลิต และผลของราคาที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับปี 66 ttb analytics คาดรายได้เกษตรกรกลุ่ม 5 พืชเศรษฐกิจ มีแนวโน้มปรับลดลงเหลือ 8.40 แสนล้านบาท ลดลง 3.9% หรือราว 3.4 หมื่นล้านบาท จากปริมาณฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 27% แต่ด้วยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ได้รับอิทธิพลจากฝนที่มากในปีก่อน ยังอยู่ในระดับที่สามารถปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรได้ ส่งผลให้พืชบางกลุ่มในภาพรวมยังไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าวเปลือกที่ผลผลิตรวมใกล้เคียงกับปีก่อน จากนาปรังมีผลผลิตดีจากปริมาณต้นปียังอยู่ในระดับที่สามารถทำการเกษตรได้ และผลผลิตนาปีที่ยังได้รับผลกระทบไม่มากในปี 66 นี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณฝนในปี 66 ที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ที่จำเป็นต้องกักเก็บสำหรับการเกษตรในปี 67 ประกอบกับการยกระดับการเตือนภัยเอลนีโญเพิ่มเป็น El Nino Advisory หรือระดับที่มีความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญสูงกว่า 90% ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ส่งผลภาคการเกษตรไทยคาดได้รับแรงกดดันอย่างรุนแรงในปี 67

คาดรายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจปี 67 อาจหดตัว

ttb analytics ได้ถอดบทเรียนในอดีตจากปัญหาภัยแล้ง 2 ครั้งใหญ่ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และประเมินรายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจปี 67 อาจหดตัว 4% แม้ว่าจะได้รับผลดีจากราคาสินค้าเกษตร ที่คาดว่าปรับตัวเพิ่มอีกในปีหน้าก็ตาม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กลุ่มพืชเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ เป็นกลุ่มพืชที่ต้องการน้ำมาก เช่น ข้าว ที่คาดว่าผลผลิตในปี 67 ภาพรวมอาจลดลง 16-18% โดยเฉพาะผลผลิตข้าวนาปรังที่คาดมีผลผลิตลดลงถึง 35-40% และอ้อย ที่ผลผลิตอาจลดลงประมาณ 13-17% จากปริมาณฝนที่น้อยและขาดช่วงอาจส่งผลต่อความชื้นในดิน

2. กลุ่มพืชเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน จากพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณน้ำฝนสูง และพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทาน รวมถึงมันสำปะหลังที่เป็นกลุ่มพืชที่ทนแล้งได้ดี และต้องการน้ำน้อย

ผลกระทบเอลนีโญอาจลากยาวถึงปี 68

ปี 66 เป็นปีที่เกษตรกรไทยเผชิญกับความยากลำบากจากภาวะฝนน้อย และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 67 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางลบของภาคการเกษตรในปี 66 และ 67 อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะฝนน้อยและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่อง (Domino Effect) ทั้งเชิงปริมาณในปี 68 ทำให้กลุ่มพืชที่ต้องการน้ำปานกลาง-น้อย อาจได้รับผลกระทบจากการที่น้ำไม่เพียงพอต่อการบริโภคในภาคการเกษตร จากภาวะภัยแล้งที่อาจลากยาว อันส่งผลกระทบต่อปริมาณการเพาะปลูก และรวมถึงผลกระทบในเชิงคุณภาพที่ผลผลิตต่อไร่อาจลดลง จากความแห้งแล้งที่กระทบต่อความสมบูรณ์ของกลุ่มพืชยืนต้น เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

แนะรัฐ-เอกชน บริหารจัดการปลูกพืชตามทฤษฎี

ttb analytics แนะนำให้ภาครัฐ และเอกชน เร่งรับมือบริหารจัดการการเพาะปลูกพืชด้วยประสิทธิภาพ และถูกต้องตามหลักทฤษฎีการเกษตร เนื่องจากตามสถิติผลผลิตพืชหลัก อย่างข้าวในช่วงปี 63 ที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีผลผลิตข้าวลดลงเพียง 0.9-1.2% ในขณะที่ประเทศไทยกลับมีผลผลิตข้าวที่ลดลงสูงถึง 11.4% โดยมีข้อเสนอแนะ อาทิ

– วางแผนบริหารจัดการการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ

– เน้นการปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่เพาะปลูก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของดิน

– พิจารณาการปลูกพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อย

– ยกระดับการผสานเทคโนโลยีการเพาะปลูก เช่น การทำการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่ใช้เทคโนโลยียกระดับผลิตสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพขึ้นในหลากหลายมิติ จากการควบคุมการเพาะปลูกผ่านระบบที่มีความแม่นยำสูง สามารถช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตจากประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ลดปริมาณการใช้ยาปราบศัตรูพืช ลดการใช้น้ำและพลังงาน ซึ่งการเตรียมความพร้อมรับมือที่ดี รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาจัดการการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ ในจังหวะเวลาที่ถูกต้อง จะสามารถช่วยลดทอนความเสี่ยงจากภัยแล้งได้อีกทางหนึ่งด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , ,