TTA รับผลกระทบ FX ฉุดงบ Q3/67 ขาดทุนหนักกว่า 1 พันลบ.

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 3/67 บริษัทฯ มีรายได้จำนวน 8,776.3 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากโครงการงานรื้อถอน (Decommissioning) งานขนส่งและติดตั้ง (Transportation & Installation: T&I) ภายใต้กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มการลงทุนอื่น มีสัดส่วนรายได้ 19%, 60%, 11%, 7% และ 3% ของรายได้รวม ตามลำดับ กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 1,655.1 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 1,030.7 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทฯ มีผลขาดทุนในไตรมาส 3/67 จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงและยังไม่เกิดขึ้นจริงส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 1,433.9 ล้านบาท เนื่องด้วยผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการประเมินมูลค่าเงินกู้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ให้แก่บริษัทย่อย หลังการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนนี้ ถือเป็นผลขาดทุนที่ไม่ใช่เงินสด เกิดขึ้นจากการรายงานงบการเงินที่ต่างสกุลเงินกัน โดยในการทำธุรกรรมระหว่าง TTA และกิจการที่เกี่ยวข้องดำเนินการในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

โดยสรุป TTA มีผลกำไรสุทธิที่ไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงและยังไม่เกิดขึ้นจริง จำนวน 344.9 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม TTA รายงานผลขาดทุนสุทธิที่ 1,088.9 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในไตรมาสที่ 3/67

ณ วันที่ 30 ก.ย.67 TTA มีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 46,082.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากสิ้นปี 66 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้า เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เงินกู้ระยะสั้นแก่กิจการที่เกี่ยวข้อง และสินทรัพย์ทางการเงินไม่หมุนเวียนอื่น ในขณะที่ เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเพิ่มขึ้น 11% เป็น 7,848.4 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการออกหุ้นกู้ในเดือนก.พ.67 ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้จากอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำ และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ 0.67 เท่าและ 0.44 เท่า ณ สิ้นไตรมาส ตามลำดับ

“ในไตรมาสที่ 3/67 ดัชนีซุปราแมกซ์ (BSI) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,320 จุด เพิ่มขึ้นจาก 912 จุดเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเนื่องมาจากความต้องการเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือออกจากทะเลแดงและคลองปานามา โดยมีอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์ทำสถิติสูงสุดที่ 15,252 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14,542 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 4/67 ภาพรวมตลาดเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองยังคงมีแนวโน้มเป็นบวก

จากบทวิเคราะห์ของ Clarksons คาดการณ์การเติบโตของการค้าสินค้าแห้งเทกองที่ 2.7% ในหน่วยตัน หรือ 5.2% ในหน่วยตัน-ไมล์ ในปี 67 โดยการค้าเมล็ดธัญพืชคาดว่าจะโตขึ้นอย่างมาก (+4.0%) เนื่องจากการส่งออกของยูเครนและสหรัฐอเมริกาที่ดีขึ้น การค้าแร่เหล็กมีแนวโน้มฟื้นตัว (ร้อยละ +3.2) โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณการนำเข้าสินแร่เหล็กที่เพิ่มขึ้นในจีน เนื่องจากความต้องการเหล็กที่คงที่ อุปทานที่เพียงพอ และราคาที่เอื้อต่อการนำเข้าการค้าสินค้าเทกองย่อย ซึ่งเป็นสินค้าหลักในการขนส่งของเรือซุปราแมกซ์คาดว่าจะเติบโต (+2.8%) จากสินค้าจากการค้าผลิตภัณฑ์เหล็กและบอกไซต์ที่แข็งแกร่ง รวมถึงการผ่อนคลายลงของความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาคในภูมิภาคสำคัญ” นายเฉลิมชัย กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานของรายกลุ่มธุรกิจ

– กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ : รายได้ค่าระวางของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ อยู่ที่ 1,689.6 ล้านบาท โดยอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) ของกลุ่มธุรกิจฯ เฉลี่ยที่ 13,668 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในทางกลับกัน มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของเรือ (OPEX) จำนวน 4,540 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และยังคงรักษาระดับให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 5,217 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน คิดเป็น 13% ส่งผลให้กำไรขั้นต้นเป็น 569.3 ล้านบาท และมี EBITDA จำนวน 509.6 ล้านบาท

โดยสรุป โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 306.0 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส โดยเป็นเจ้าของเรือ จำนวน 24 ลำ (เรือซุปราแมกซ์ จำนวน 22 ลำ และเรืออัลตราแมกซ์ จำนวน 2 ลำ) มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,913 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 16.5 ปี

– กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง : บมจ.เมอร์เมด มาริไทม์ (MML) หรือเมอร์เมด รายงานรายได้ 5,227.7 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/67 โดยรายได้จากงานรื้อถอน งานขนส่งและติดตั้งงานวิศวกรรมใต้ทะเล (subsea-IRM) และงานวางสายเคเบิลใต้ทะเล มีสัดส่วน 56%, 33% และ 11% ของรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจฯ ตามลำดับ

ในส่วนของรายได้งานรื้อถอน งานขนส่งและติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 218% เทียบจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากงานนอกชายฝั่งของงานรื้อถอน งานขนส่งและติดตั้งบริเวณอ่าวไทย ในส่วนของรายได้จากงานวางสายเคเบิลใต้ทะเลเพิ่มขึ้น 75% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน ตามงานที่เพิ่มขี้น รวมถึงไม่มีการนำเรือเข้าอู่แห้งในไตรมาสนี้ เมอร์เมด รายงานกำไรขั้นต้นจำนวน 576.4 ล้านบาท ตามอัตรากำไรขั้นต้นที่ 11% และมี EBITDA อยู่ที่ 403.6 ล้านบาท

โดยสรุป เมอร์เมด รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 22.0 ล้านบาท และยังคงมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบที่แข็งแกร่งทั้งหมด 814.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 3/67

– กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร : ในไตรมาสที่ 3/67 บมจ.พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ (PMTA) รายงานรายได้ 959.1 ล้านบาท ณ ไตรมาสที่ 3/67 จากปริมาณการขายปุ๋ยทั้งหมดที่ 43.8 พันตัน โดยมีปริมาณการขายปุ๋ยในประเทศเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 88% ของปริมาณการขายปุ๋ยทั้งหมด หรือเท่ากับ 38.6 พันตัน ในขณะที่ปริมาณส่งออกปุ๋ยอยู่ที่ 5.2 พันตัน

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามประเภทของปุ๋ย ปริมาณขายปุ๋ยเชิงเดี่ยว (single fertilizer) อยู่ที่ 6.3 พันตัน ปริมาณขายปุ๋ยเชิงผสม (NPK fertilizer) อยู่ที่ 37.4 พันตัน อย่างไรก็ตาม สำหรับรายได้จากผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการเกษตรอื่น เพิ่มขึ้น 4% เทียบจากช่วงเดียวกันกับไตรมาสก่อน เป็น 62.3 ล้านบาท ในส่วนของรายได้จากการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงานเพิ่มขึ้น 11% เทียบกับช่วงเดียวกันกับไตรมาสก่อน เป็น 35.8 ล้านบาท จากอัตราการใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่และกิจกรรมของคลังสินค้าที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนของกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 164.6 ล้านบาท พร้อมทั้งอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 17% ในไตรมาสที่ 3/67 และ EBITDA อยู่ที่ 86.5 ล้านบาท

โดยสรุป PMTA รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ในไตรมาสที่ 3/67 จำนวน 30.5 ล้านบาท

– กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) : พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 30 ก.ย.67 พิซซ่า ฮัท มีสาขาจำนวน 189 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดเป็นสาขาที่เปิดตามหัวเมืองใหญ่

ทาโก้ เบลล์ เป็นแฟรนไชส์อาหารสไตล์เม็กซิกันที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ 70% ณ วันที่ 30 ก.ย.67 ทาโก้ เบลล์ มี 30 สาขาทั่วประเทศ

– กลุ่มการลงทุนอื่น (Investment) มุ่งเน้นธุรกิจการบริหารทรัพยากรน้ำและโลจิสติกส์ : บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AIM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ 92.50% เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ 100%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 67)

Tags: , , ,