นางสาวแคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) เปิดเผยว่าปี 67 กลุ่มบริษัทฯ เตรียมเข้าประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งรอบที่ 2 และรอบที่ 3 ภายหลังจากที่ปี 2566 บริษัทฯได้ชนะประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบที่ 1 เป็นจำนวน 88.66 เมกะวัตต์เสนอขาย ขณะที่การประมูลรอบใหม่นี้ตั้งเป้าหมายที่ 100 – 150 เมกะวัตต์
รวมทั้งเดินหน้ารุกธุรกิจ Private PPA (Private Power Purchase Agreement) หรือข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และแบบติดตั้งบนผืนน้ำ (Solar Floating) ของผู้ประกอบการธุรกิจแบบครบวงจร และมีแผนจะทำ M&A (Mergers and Acquisitions) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งกำลังการผลิต และมีแผนจับมือกับพันธมิตรในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในประเทศไทย และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) เพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงการใหม่ สายธุรกิจ Health Care กับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำธุรกิจ Wellness ซึ่งจัดอยู่ในเมกะเทรนด์และมีแนวโน้มการเติบโตสูง สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนในสังคมส่วนใหญ่ให้ความสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น เพื่อสร้าง New S-Curve และเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ เริ่มตั้งแต่การให้กำเนิดบุตร การรักษา และการป้องกัน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ของการมีสุขภาพดีแบบองค์รวม โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นความคืบหน้าในช่วงครึ่งปีแรกนี้
สำหรับงบลงทุนในปี 2567 บริษัทฯ มีเงินทุนจากการจำหน่ายโครงการโอนิโกเบ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินในประเทศญี่ปุ่น มูลค่า 3,357 ล้านบาท และหากต้องการเม็ดเงินลงทุนที่มากขึ้น บริษัทฯ มั่นใจว่าพันธมิตรทางธุรกิจและสถาบันการเงินพร้อมสนับสนุนด้านการลงทุน เนื่องจากบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน
ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 66 บริษัทมีรายได้รวม 1,898 ล้านบาท ได้แก่ รายได้จากการดำเนินงานต่อเนื่อง 1,275 ล้านบาท ลดลง 50 ล้านบาท หรือ 4% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 1,325 ล้านบาท และรายได้จากส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าจำนวน 623 ล้านบาท ลดลง 25 ล้านบาท หรือ 4% เช่นกัน เนื่องจากโรงไฟฟ้าบางโครงการสิ้นสุดสัญญาเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ประกอบกับการประกาศปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงส่งผลให้รายได้รวมปี 66 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน
กลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนรวม 2,981 ล้านบาท เนื่องจากจำหน่ายเงินลงทุนในโครงการโอนิโกเบ ประเทศญี่ปุ่น จึงต้องแยกแสดงผลประกอบการของโครงการดังกล่าวออกจากส่วนการดำเนินงานปกติ แสดงเป็นรายการขาดทุนจากการดำเนินงานที่ยกเลิกจำนวน 1,946 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการดำเนินงานต่อเนื่องจำนวน 1,035 ล้านบาท เป็นผลมาจากการบันทึกรายการพิเศษ (one time transaction) ได้แก่ ขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หนี้สงสัยจะสูญ) จำนวน 1,036 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการทางบัญชีที่ไม่กระทบต่อกระแสเงินสดและอัตราส่วนทางการเงินตามเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ (non-cash item), ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยจำนวน 343 ล้านบาท, ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการรับชำระคืนเงินกู้ยืมจากบริษัทย่อย 229 ล้านบาท และขาดทุนจากการจำหน่ายอุปกรณ์ในระหว่างงวดจำนวน 57 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากพิจารณากำไรสำหรับปี โดยไม่รวมรายการพิเศษข้างต้น กลุ่มบริษัทฯ จะมีผลกำไรจากการดำเนินงานปกติจำนวน 401 ล้านบาท ลดลง 28% เนื่องจากการเริ่มทยอยสิ้นสุดสัญญา Adder แต่ ณ สิ้นปี 66 กลุ่มบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เท่ากับ 1.32 เท่า ลดลงจากปีก่อนที่ 2.20 เท่า เนื่องมาจากการนำเงินที่ได้รับจากการขายโครงการโอนิโกเบไปชำระหนี้ ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีความสามารถในการลงทุนเพิ่มและพัฒนาโครงการใหม่ในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 67)
Tags: TSE, หุ้นไทย, แคทลีน มาลีนนท์, ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่