TRP ปิดเทรดวันแรกที่ 15.80 บาท เพิ่มขึ้น 1.80 บาท (+12.86%) มูลค่าซื้อขาย 1,347.62 ล้านบาท จากราคาเปิดเทรดวันแรก 16.50 บาท จากนั้นขึ้นไปสูงสุด 17.30 บาท และช่วงท้ายภาคบ่ายไหลลงไปต่ำสุดที่ 15.50 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บมจ.เอสเตติก คอนเนค (TRP) ประกอบกิจการสถานพยาบาลด้านคลินิกเวชกรรมภายใต้ชื่อ “ธีรพรคลินิก” เพื่อให้บริการศัลยกรรมความงามบนใบหน้าแก่บุคคลทั่วไป เช่น การผ่าตัดดึงหน้า(Face-Lock) การผ่าตัดตาสองชั้น การผ่าตัดเสริมจมูก และบำรุงผิวพรรณ เป็นต้น ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี นำโดยนายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ อดีตนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย ผู้มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มายาวนานกว่า 40 ปี ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ในระยะสั้น เราคาดว่าในระยะสั้นกำไรปี 66 จะทรงตัวจากสภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัว ในขณะที่รายได้ปี 67 จะเติบโตได้ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น แม้กำไรปี 67 อาจจะไม่เติบโตได้ดีเท่ารายได้เนื่องจากบริษัทมีแผนลงทุนในโรงพยาบาลแห่งใหม่บริเวณแขวงสำเหร่ ซึ่งจะทำให้มีแรงกดดันกำไรจากค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าก่อสร้าง ค่าเสื่อม ฯลฯ
ณ ราคา IPO ที่ระดับ 2024F Forward P/E 18.92 เท่า ยังถือว่ามี Upside สูงถึง +33.82% จากระดับ 2024F Forward P/E ที่เป็น Benchmark ที่ระดับ 25.32 เท่า เราจึงมีมุมมองว่าราคาหุ้นยังน่าลงทุนในระยะสั้นเนื่องจากราคา IPO ถือว่าค่อนข้างถูก แม้แนวโน้มกำไรที่เราคาดใน 1-2 ปีข้างหน้าจะชะลอจากปัจจัยที่กล่าวไปแล้วก็ตาม
ในระยะยาว เราคาดว่าแผนการสร้างโรงพยาบาลและย้ายสถานบริการปัจจุบันไปโรงพยาบาลในแขวงสำเหร่ เขตธนบุรี กทมฯ จะช่วยให้บริษัทสามารถรองรับผู้รับบริการได้มากขึ้น จากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของบริษัทในด้านการทำศัลยกรรมโดยเฉพาะศัลยกรรมดึงหน้า (Face-lock) ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการบริการเฉพาะทางของบริษัทฯยังมีแนวโน้มเติบโตที่ดี การขยายโรงพยาบาลดังกล่าวจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บริษัทสามารถรองรับความต้องการที่กำลังเติบโตของตลาดอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความงามมากขึ้น ผนวกกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุจะทำให้มีผู้สูงอายุมากขึ้นซึ่งมีโอกาสมากขึ้นที่จะใช้บริการศัลยกรรมดึงหน้าที่บริษัทฯ เชี่ยวชาญ โดยแนวโน้มอุตสาหกรรมเสริมความงามในประเทศไทยอ้างอิงจาก grandviewresearch.com คาดว่าปี 2022-2030 จะมีการเติบโตทบต้นเฉลี่ย (CAGR) ปีละ 9.7% ซึ่งยังถือว่าโตได้ในระดับดี รวมถึงเป็นธุรกิจที่มีอัตราทำกำไร (Net profit margin) โดยเฉลี่ยสูงถึง 25-30%
ทั้งนี้หากบริษัทสามารถกระจายความเสี่ยงโดยการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อลดความพึ่งพารายได้จากบริการดึงหน้าลง และเพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตในธุรกิจศัลยกรรมผ่าตัดอื่นด้วยจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสเติบโตในระยะยาวได้อย่างมากในความเห็นของเรา โดย ณ ราคา IPO ที่ 14 บาทเรามองว่าน่าสนใจเข้าลงทุนเพื่อลงทุนระยะยาว
ปัจจุบัน “ธีรพรคลินิก” ปัจจุบันมีสาขา 1 สาขาที่อยู่เลขที่ 2 ถนนเจริญนคร แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กทมฯ 10600 (ฝั่งตรงข้ามกับสถานีดับเพลิงปากคลองสาน และอยู่เยื้องๆ กับห้างไอคอนสยาม ใกล้รถไฟฟ้าสถานีเจริญนค) บุคลากรทางการแพทย์ของบริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดศัลยกรรมดึงใบหน้าโดยมีชื่อเสียงจาก นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก รวมถึงมีการถ่ายทอดทักษะให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ของบริษัท นอกจากนี้กลยุทธ์บริษัทฯจะเน้นให้แพทย์แต่ละคนมีความสามารถในการผ่าตัดเฉพาะด้าน เช่น การผ่าดึงหน้า ด้านการผ่าตาบน ตาล่าง ทำจมูกด้วยวัสดุไขมัน ทำจมูกด้วยวัสดุซิลิโคน เป็นต้น ทำให้อัตราการแก้งาน และคุณภาพบริการเป็นที่พึงพอใจ ในปี 65 บริษัทมีแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 26 คน เพิ่มขึ้น 5 คน จากปี 64 ที่ 21 คน และหมอให้ยาระงับความรู้สึกราว 10 คน
สำหรับการเปิดโรงพยาบาลใหม่ตามแผนการใช้เงินจาก IPO ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 67 บริษัทได้มีการรองรับในการจัดสรร และฝึกบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับไว้แล้ว
วิเคราะห์โครงสร้างรายได้บริษัทฯ ปี 65 หากแบ่งสัดส่วนรายได้ของธุรกิจเสริมความงาม (Aesthetic Medicine) เป็น 2 ประเภทหลัก นั้นคือ 1) เสริมความงาม/ศัลยกรรมผ่าตัด (Surgical) 2) เสริมความงามโดยไม่ผ่าตัด (Non-Surgical) จะพบว่าบริษัทฯ มีรายได้หลักจากกลุ่มบริการหัตถการเกี่ยวกับการผ่าตัดสูงถึง 93.56% และบริการที่มีสัดส่วนสูงสุดคือศัลยกรรมดึงหน้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 63.36% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ลำดับรองลงมาคือ ศัลยกรรมผ่าตัดตาที่สัดส่วน 20.45% ซึ่งสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของบริษัท
ในเชิงของการกระจายรายได้บริษัทแบ่งตามประเภทบริการสะท้อนว่าบริษัทฯ พึ่งพาสัดส่วนรายได้จากบริการใดบริการหนึ่งค่อนข้างสูงเช่นกัน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้ในผลการดำเนินงานในอนาคต อย่างไรก็ดีบริษัทฯอาจได้ประโยชน์จากแนวโน้มสังคมสูงวัย และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเรื่องความงาม เนื่องจากบริการศัลยกรรมดึงหน้ามักจะเป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่มีอายุ เพราะเป็นศัลยกรรมที่ทำให้ดูอ่อนเยาว์มากขึ้น
สำหรับสัดส่วนรายได้บริการให้ยาระงับความรู้สึกถือเป็นสัดส่วนน้อยคิดเป็นเพียง 4.25% ของรายได้ทั้งหมด และเป็นสัดส่วนที่จะเติบโตตามธุรกิจศัลยกรรมผ่าตัดเนื่องจากผู้รับบริการผ่าตัดต้องใช้ยาระงับความรู้สึก ขณะที่รายได้จากบริการที่ไม่เกี่ยวกับการผ่าตัด (Non-Surgical) เช่น การฉีดสารเติมเต็มริ้วรอยและปรับรูปหน้า (Filler) หรือการฉีดสารต้านริ้วรอยและปรับรูปหน้า (Botox) คิดเป็นสัดส่วน 2.45% ถือเป็นสัดส่วนน้อยที่สุดและยังไม่เห็นแนวโน้มการเติบโตเนื่องจากกลยุทธ์บริษัทนั้นเน้นการเติบโตจากศัลยกรรมผ่าตัดเป็นหลัก
หนี้สินรวมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 65 เพิ่มขึ้นจากปี 64 ราว109.58% ทำให้อัตราส่วน D/E เพิ่มขึ้น 0.41 เท่าจาก 0.31 เท่าในปีก่อนหน้า แต่ถือว่าเป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ไม่มีความน่ากังวลในด้านโครงสร้างทุนของบริษัทฯ โดยเหตุที่หนี้สินรวมเพิ่มขึ้นเกิดจากการกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินมูลค่า 109.24 ล้านบาทเพื่อใช้ซื้อที่ดินสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่สำเหร่ตามวัตถุประสงค์การนำเงินทุนไปใช้ในการ IPO ครั้งนี้ โดยหนี้ดังกล่าวจะแบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปีเท่ากับ 16.92 ล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาวสุทธิจากส่วนที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีเท่ากับ 84.30 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 66)
Tags: TRP, หุ้นไทย, เอสเตติก คอนเนค