นางชนมาศ ศาสนนันทน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า ความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกปีนี้น่ายังเติบโตเฉลี่ยราว 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว โดยหลักจะมาจากจีนที่ยังมีความต้องการใช้น้ำมันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนสหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้มุมมองต่อเศรษฐกิจ และความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐดีขึ้น
ส่วนซัพพลาย โดยหลักฝั่งกลุ่มนอกโอเปก (Non-OPEC) ก็มีการเติบโตในระดับ 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหลักๆ ยังมาจากสหรัฐที่ 2.5 แสนบาร์เรลต่อวัน และแคนาดาที่ 1.4 แสนบาร์เรลต่อวัน
ธุรกิจโรงกลั่น ในส่วนของมาร์จิ้น (Singapore Cracking GRM) ตั้งแต่ต้นไตรมาส 1/67 จนถึงปัจจุบัน (QTD) อยู่ที่ 8.25 เหรียญ/บาร์เรล โดยให้จับตาดูที่ดีมานด์ แม้คาดว่าจะยังมีความต้องการที่เข้ามา โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน, แก๊สโซลีน แต่ซัพพลายก็เข้ามาค่อนข้างมาก หลักๆ เข้ามาทางด้านตะวันออกกลาง รวมถึงโรงกลั่นใหม่ในแอลจีเรียและแอฟริกา
ขณะที่ในประเทศความต้องการน้ำมันยังคงเติบโตราว 3.4% จากปีก่อน, gas oil โต 0.4% จากปีก่อน และน้ำมันอากาศยาน เติบโตสูงถึง 24.2% จากปีก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่จะมีทางด้านน้ำมันเตา (Fuel Oil) ที่ย่อตัวลงบ้าง หรือลดลง 1.7% จากปีก่อน
ด้านตลาดอะโรเมติกส์ โดยภาพรวมดูมีความหวังมากขึ้น จากพาราไซลีน (Px) จากความต้องการปีนี้โต 1.5 ล้านตัน สูงกว่าซัพพลายที่เข้ามา ขณะที่เบนซิน แม้ซัพพลายยังเข้ามาเพิ่มแต่ความต้องการเติบโตขึ้นด้วย แม้อาจจะยังตามไม่ทันมากนัก
ส่วนโอเลฟินส์ ยังมีความท้าทายอยู่บ้างจาก HDPE แม้ว่าดีมานด์ และซัพพลายจะเติบโตใกล้เคียงกัน แต่หากดูโพลีโพรพิลีน (PP) ปีนี้ซัพพลายเข้ามาค่อนข้างมากจากอินเดียและจีน ก็น่าจะเป็นตัวที่ทำให้ตลาดของโอเลฟินส์ได้รับแรงกดดันอยู่
น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ซัพพลายเข้ามามากขึ้นในปีนี้ และมีการเติบโตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 แห่งใหม่ในอินเดียและจีน ส่งผลให้ราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน กลุ่มที่ 2 ปรับตัวลง และส่งผลกระทบมายังกลุ่มที่ 1
ด้านยางมะตอย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดีมานด์ยังเติบโตขึ้นต่อเนื่องทุกปี ขณะที่ซัพพลายยังทรงตัว
นางชนมาศ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทมีแผนการลงทุนโครงการในอนาคต ตั้งแต่ปี 67-69 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 703 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) 233 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินลงทุนในธุรกิจโอเลฟินส์ของบริษัทฯ โดยผ่านการเข้าซื้อ หุ้นของบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ประมาณ 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และโครงการอื่นของบริษัทที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
สำหรับการดำเนินงานของโครงการ CFP มีความคืบหน้าประมาณ 95% คาดว่าจะสามารถทดลองเดินเครื่องจักรหน่วยกำจัดสารกำมะถันในน้ำมันดีเซลหน่วยใหม่ (Hydrodesulfurization; HDS-4) ในเดือนก.พ.67 ซึ่งจะทำให้การดำเนินงาน HDS-4 เร็วว่าแผนงาน เพื่อ รองรับการผลิตน้ำมันมาตรฐาน Euro 5 ที่มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศในปี 67 ในส่วนของหน่วยผลิตอื่นๆ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเพื่อให้เริ่มทยอยทดลองเดินเครื่องจักรได้ต่อไป
นอกจากนี้ บริษัทยังศึกษาโครงการใหม่ๆ อย่างไบโอเจท การศึกษาเทคโนโลยี การดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) และใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Utilization: CCU) รวมไปถึงโครงการไฮโดรเจน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 67)