ThaiBMA ชี้ตลาดหุ้นกู้เข้าโหมดระมัดระวังหลังปี 66 ผิดนัดชำระกว่า 1.63 หมื่นล้าน ปีนี้ยังคาดเดายาก

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทายดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง สงครามความขัดแย้ง และเศรษฐกิจประเทศที่เกี่ยวข้องกับไทยยังมีปัญหา ทำให้ภาพการลงทุนอยู่ในโหมดระมัดระวัง แต่ยอมรับว่าคาดเดายากว่าจะมีหุ้นกู้ที่มีปัญหาหรือเสี่ยงที่จะเป็นหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระมากน้อยแค่ไหน

โดยล่าสุด หุ้นกู้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ (ITD)ยังไม่ Default ซึ่งจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 17 ม.ค. นี้ ที่จะเจรจาขอยืดหนี้ 2 ปี

แม้จะมีการผิดนัดของหุ้นกู้บางบริษัท นายสมจินต์ เชื่อว่าผู้ลงทุนสามารถแยกแยะได้ ไม่น่าจะกระทบการลงทุนหุ้นกู้

นางสาวอารยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า ในปี 66 หุ้นกู้เอกชนออกใหม่ยังแตะ 1,018,690 ล้านบาท โดย 91% เป็นหุ้นกู้ Investment Grade มูลค่า 926,713 ล้านบาท ขณะที่ อีก 9% เป็น High yield มูลค่า 91,977 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่า ปี 65 ที่มี 1,261,548 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ Investment Grade มูลค่า 1,131,282 ล้านบาท และ High yield มูลค่า 130,266 ล้านบาท

โดยมองว่า นักลงทุนมีความระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกัน บจ.ใหญ่ อาจมีแหล่งเงินกู้อื่นในช่วงดอกเบี้ยขึ้นสูง อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าสัดส่วนให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป (PO) มากขึ้น โดยปี 66 มีสัดส่วน 39% จากปี 65 อญุ่ที่ 29%

สำหรับหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระในปี 66 มูลค่ารวม 16,363 ล้านบาท ได้แก่

– หุ้นกู้ บมจ. ออลล์อินสไปร์ (ALL) (Non-rated) 7รุ่น รวม 2,334 ล้านบาท

– หุ้นกู้ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) (BBB+) 5 รุ่น มูลค่า 9,198 ล้านบาท

– หุ้นกูบมจ.ช.ทวี (CHO ) (Non-rated) 4 รุ่น 409 ล้านบาท

– หุ้นกู้ DR (Non-rated) 2 รุ่น 1,210 ล้านบาท

– หุ้นกู้ บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (Non-rated) 7 รุ่น มูลค่า 3,212 ล้านบาท

– ล่าสุดหุ้นกู้ PPH บริษัทอสังหาฯขนาดเล็ก (Non-rated) 1 รุ่น 392 ล้านบาท

ปัจจุบันมูลค่าคงค้างที่มีปัญหา ณ สิ้นปี 66 รวม 39,412 ล้านบาท (ไม่รวมหุ้นกู้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ) โดยจำนวนนี้ หุ้นกู้ Default 22,295 ล้านบาท

นางสาวอริยา กล่าวว่า ในปีนี้ ThaiBMA มีแนวทางการดำเนินงานในการช่วยแก้ไขปัญหาหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระ หรือหุ้นกู้ที่มีปัญหา

1. เพิ่มการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของ Issuer และ การเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจลงทุน โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2. จัดทำ High Yeild bond covenant (ข้อกำหนดทางการเงินที่ Issuer ต้องปฏิบัติ) ที่ครอบคลุมเงื่อนไขสำคัญ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน

3. จัดทำสัญญามาตรฐานของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อเพิ่มหน้าที่ของ Issuer และนายทะเบียนที่มีต่อผู้แทนผู้ถือหุ้นหุ้นกู้ในการทำหน้าที่ปกป้องประโยชน์ของนักลงทุนให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ThaiBMAได้ร่วมกับ ก.ล.ต. คาดว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวจะเริ่มใช้ได้ในปลายปีนี้

ส่วนกองทุนพยุงหุ้นกู้ นางสาวอริยา กล่าวว่าตอนนี้กองทุนนี้หมดอายุแล้ว และปกติจะเข้าช่วยหุ้นกู้ Investment grade

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 67)

Tags: , , ,