นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย [THAI] เปิดเผยว่า หลังจากที่การบินไทย และ บมจ. การบินกรุงเทพ [BA] หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมือทางธุรกิจโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เมื่อวันที่ 24 มี.ค.68 ที่ผ่านมานั้น
หลังจากนี้ จะมีการหารือในรายละเอียดร่วมกัน ซึ่งในส่วนของการบินไทยมีการศึกษาเดิมอยู่ ดังนั้นจะมีขั้นตอนที่จะต้องลงนามกับ BA ในข้อตกลงการห้ามเปิดเผยข้อมูล (NDA) และเริ่มเจรจาในเรื่องโครงสร้างการร่วมทุน ในรูปแบบ JV และสัดส่วนการถือหุ้นที่เหมาะสม ซึ่งการบินไทยจะเป็นแกนนำ จากนั้นนำผลศึกษามาเจรจาร่วมกันเพื่อกำหนดแผนการพัฒนา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจะมีความชัดเจนมากขึ้น
เบื้องต้น ประเมินว่าโครงการ MRO นี้จะมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนการบินไทย และบางกอกแอร์เวย์ จะลงทุนฝ่ายละเท่าไร อยู่ที่การเจรจา การบินไทยไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุน อีกทั้งโครงการ MRO เป็นการดำเนินการที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่มีการเพิ่มทุนด้วย เนื่องจากพบว่ามีความคุ้มค่าการลงทุนที่มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ระดับตัวเลข 2 หลัก
“การบินไทยมีการลงทุน MRO เอง มีผลดีที่จะสามารถบริหารความเสี่ยงด้านการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่มีจำนวนมากได้เอง ไม่ต้องไปพึงศูนย์ซ่อมต่างประเทศ ซึ่งแม้จะมีศูนย์ซ่อมที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเองแต่ก็ไม่สามารถรองรับความต้องการในอนาคตได้ อีกทั้งยังเป็นการ ซ่อมบำรุงที่ระดับพื้นฐาน การซ่อมในประเทศไม่สูญเสียดุลการค้า และสร้างรายได้ให้บริษัทอีกทางด้วย”
นายชาย กล่าวถึงเหตุผลที่จับมือกับบางกอกแอร์เวย์ส ในการพัฒนาโครงการ MRO อู่ตะเภาว่า เนื่องจาก 1.เป็นผู้ประกอบการไทยด้วยกัน 2. มีฝูงบินเอง โดยส่วนของการบินไทย คาดว่าปี 2576 จะมีฝูงบินจำนวน 150 ลำ รวมกับบางกอกแอร์เวย์ส์จะมีเกือบ 200 ลำ ที่เป็นลูกค้าตั้งต้น ส่วนสายการบินอื่นก็จะเป็นลูกค้าเพิ่มที่จะเข้าสนับสนุน MRO และ 3. เป็นพันธมิตรของการบินไทยในด้านอื่น ๆ
“การบินไทย ร่วมมือกับบางกอกแอร์เวย์ส เป็นสิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทคนไทยมีศักยภาพในการดำเนินโครงการนี้ คาดเริ่มดำเนินโครงการได้อย่างเร็วภายใน 3 ปี “
สำหรับโครงการ MRO อู่ตะเภาจะเป็นโครงการหลักในการลงทุนที่ การบินไทยและบางกอกแอร์เวย์สร่วมมือกัน ในรูปแบบ JV และภายใต้โครงการนี้ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่จะมีการดำเนินการร่วมกับนักลงทุนอีกมากมาย ซึ่งสามารถดึงนักลงทุนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาร่วมด้วย ทั้งเรื่องโรงพ่นสีอากาศยาน (Paint Shop) หรือการขายอะไหล่ชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น
นายชาย กล่าวว่า โครงการ MRO อู่ตะเภานั้นไม่ได้ผูกติดกับโครงการเมืองการบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพราะ MRO ไม่ได้ต้องการผู้โดยสารหรือระบบรถไฟไฮสปีด เพียงแต่ต้องมีการทำแท็กซี่เวย์ สู่พื้นที่ MRO ก็สามารถดำเนินโครงการได้แล้ว ส่วนการจะเดินหน้าอย่างไร ก็ต้องอยู่ที่ทางสำนักนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
สำหรับกรณีที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย [AOT] หรือ ทอท.จะเปิดลงทุน MRO ที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น ที่นั่นจะเป็นการซ่อมบำรุง ระดับ Line Maintenance ซึ่งต่างกับ MRO ที่อู่ตะเภาที่ เป็นแบบ Heavy Maintenance และ ปัจจุบันการบินไทยมีศูนย์ซ่อมที่สุวรรณภูมิอยู่แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 68)
Tags: BA, THAI, การบินกรุงเทพ, การบินไทย, ชาย เอี่ยมศิริ, หุ้นไทย