นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานมูลนิธีวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความคิดเห็นต่อการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ว่า ไม่ว่าจะเรียกความร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าอะไร นี่คือการควบรวมกิจการ มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว การควบรวมกิจการครั้งนี้จึงค่อนข้างอันตรายต่อการผูกขาดตลาด ผู้อานิสงค์หรือผลกระทบทางบวกจากเรื่องนี้ คือ ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท บริษัทคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการควบรวมกิจการแต่มีราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อควบรวมแล้วจะทำให้เหลือผู้เล่นเพียงสองราย การแข่งขันและตัดราคากันจะน้อยลงไปด้วย
ส่วนผู้ได้รับผลด้านลบคือผู้บริโภค และคู่ค้าของผู้ให้บริการที่อาจจะมีอำนาจต่อรองลดลง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุน การควบรวมจะทำให้ผู้สนับสนุนลดลงไปหนึ่งราย ส่วนรัฐบาล จะได้รับผลกระทบรายได้ลดลง ถ้ามีการประมูลคลื่นความถี่ ผู้เข้าประมูลลดลง รายได้ของรัฐย่อมลดลง ขณะที่ประชาชนจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อไปทดแทนรายได้ของรัฐที่หายไป ถัดมาคือระบบเศรษฐกิจไทย ผลของการควบรวมกิจการจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น การประกอบอาชีพ การค้าขายออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบทั้งหมด
“ความเห็นส่วนตัวมองว่า ถ้าธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลไม่มีกฎหมายที่สามารถดูแลการประกอบกิจการได้ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า โดยสำนักการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สามารถเข้ามามีอำนาจในการกลั่นกรองและดูแลแทนได้”
นายสมเกียรติ กล่าวว่า การควบรวมกิจการเกิดขึ้น จะทำให้ตลาดโทรศัพท์มือถือจะกลับไปครั้งที่มีผู้ประกอบการเพียงสองราย ซึ่งยังไม่มีทรูมูฟ คือย้อนไป 15 ปี หรือย้อนกลับไปที่ปี 2547 ถ้าตลาดย้อนกลับไปเหมือนในอดีต อาจเกิดการปรับตัวของราคาค่าบริการที่สูงขึ้น หรือการเกิดแพคเก็จที่ไม่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค และยิ่งจะกระทบกับการทำธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือและบริการไร้สายในการทำธุรกิจ บริการโทรคมนาคมถ้าเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือแค่สองราย จะเกิดผลกระทบอย่างมากกับผู้บริโภค เพราะเป็นกิจการที่มีผู้ประกิจการน้อยราย
“กสทช. มีหน้าที่ในการดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด จึงควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเรียกว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเรียกว่าอะไร ผลที่ได้เหือนกัน คือทำให้เหลือผู้ประกอบการลดลง มีแนวโน้มที่กสทช.จะบอกว่าไม่มีอำนาจในการควบคุมไม่ให้เกิดการควบรวมกิจการ จึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ หากกสทช.จะเน้นไปที่บทบาทการกำกับดูแลการให้บริการเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอาจจะทำได้ยาก ถ้าไม่มีข้อมูลเช่นเดียวกับผู้ให้บริการ การควบรวมกิจการโทรคมนาคมมีกฎหมายเกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม และกฎหมายแข่งขันทางการค้า กสทช. มีอำนาจในการกำหนดมาตรการป้องกันการการควบรวมกิจการได้ ถ้ากสทช. ไม่มีอำนาจ ก็ยังมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดการแข่งขันทางการค้า ส่วนที่ผู้ประกอบการประกาศว่าการรวมกันจะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ขอมองย้อนไปดูว่า ผู้ประกอบการทั้งสองรายยังไม่ได้ทำให้เกิดเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ แต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้เกิดการผูกขาดมากกว่า”
ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จากที่ตัวแทนทั้งจาก DTAC และ TRUE ได้เข้ามาชี้แจงต่อกรรมการ กสทช.กรณีการควบรวมกิจการนั้นเพราะกรรมการมีความห่วงใย โดยทั้งสองบริษัทระบุว่ากระบวนการควบรวมเป็นเพียงการเริ่มต้นยังไม่มีรายละเอียด ก็ต้องรอผลการเจรจา แต่ในชั้นนี้ กรรมการ กสทช.กำชับว่าระหว่างการเจรจาการให้บริการของทั้งสองรายยังคงราคาและคุณภาพการให้บริการเหมือนเดิม
ทั้งนี้ หากมีการควบรวมกิจการ ในแง่การแข่งขันในตลาดก็น่าจะมีความรุนแรงน้อยลง แต่ในแง่การแข่งขันการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งระยะต่อไปก็จะมีการประมูลคลื่นความถี่ 3500 MHz หาก กสทช.มี 2 สล็อต การแข่งขันก็คงไม่มี และการออกแบบการประมูลคงยากขึ้น
นายประวิทย์ กล่าวว่า ยังมีข้อสงสัยว่า การควบรวมจะมีขอบเขตอย่างไร เพราะ DTAC มีเพียงธุรกิจมือถือ ขณะที่ TRUE มีธุรกิจมือถือ ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และ ทรูวิชั่น
นอกจากนี้ มองความสัมพันธ์ชั้นแรกกลุ่มเจ้าของทุน คือเครือซีพี และเทเลนอร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ DTAC และ TRUE เป็นชั้นที่สอง ขณะที่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาต เป็นชั้นที่สาม ซึ่งการควบรวมระดับนี้ยังไม่เกิด จึงยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับใบอนุญาต แต่หากทั้ง DTAC และ TRUE ควบรวมกัน ทั้ง DTN และ TUC ถือเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีผู้ถือหุ้นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ก็ต้องรอผลการเจรจาที่จะทำให้ดีลควบรวมกิจการชัดเจน จึงจะดูในรายละเอียด ซึ่งก็ต้องไปพิจารณาว่าจะเข้าข่ายอยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าหรือไม่ ส่วนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ต้องเข้ามาดูแลในฐานะบริษัทจดทะเบียน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 64)
Tags: DTAC, TRUE, ทรู คอร์ปอเรชั่น, ทีดีอาร์ไอ, สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น