สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินผลงานตลอดระยะเวลา 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้สร้างผลงานที่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมไว้หลายด้าน และดำเนินโครงการจำนวนหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งสมควรได้รับการสานต่อ
แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ดำเนินนโยบายอีกหลายด้านที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งความเข้าใจผิด การกำหนดนโยบายโดยไม่ผ่านการปรึกษาหารืออย่างรอบด้าน การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแทนที่จะกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น การใช้กลไกของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นหลักในการขับเคลื่อนนโยบายทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำ ตลอดจนการที่นโยบายของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม นโยบายเหล่านี้สมควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งยกเลิกไปโดยรัฐบาลใหม่
“ในการประเมินผลงานนี้มุ่งหวังเพื่อเสนอให้รัฐบาลใหม่ รัฐสภา พรรคการเมือง องค์กรต่างๆ และประชาชนให้การสนับสนุนในการสานต่อนโยบายที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ริเริ่มนโยบายที่สมควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ และยกเลิกนโยบายที่ดำเนินการอยู่ที่ก่อให้เกิดปัญหา”
การประเมินให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เป็นนโยบายหลัก (Flagship) ของรัฐบาล อาทิ
-
การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve industries) โดยโครงการที่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญมีหลายโครงการ เช่น การพัฒนากำลังคนระดับสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แม่นยำ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนมายังพื้นที่ EEC โดยรวม
อย่างไรก็ตาม มีหลายโครงการที่ยังไม่มีความคืบหน้านัก ทั้งที่มีความสำคัญสูงในระดับเป็น “เรือธง” เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (Flagship project) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางขนส่งทางบกและทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งมีความล่าช้ากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก
ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ยังเกิดขึ้นไม่มากนัก
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ควรสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC ไปต่อเนื่อง แต่ควรทบทวนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยหากจะมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก็ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยดำเนินการอย่างโปร่งใส รัฐบาลยังควรยกระดับการพัฒนากำลังคนทักษะสูง โดยให้เงินอุดหนุนบางส่วนในการฝึกอบรมแก่สถานประกอบการ และกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐในพื้นที่ร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากหลักสูตรส่วนใหญ่ในปัจจุบันกระจุกตัวในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ควรเร่งแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC อย่างจริงจัง เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างรับผิดชอบและสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้ฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจนเกิดประสิทธิผล
ที่สำคัญ รัฐบาลควรใช้การพัฒนาพื้นที่ EEC เป็นต้นแบบในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบในการออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน และขยายผลไปสู่การปฏิรูปกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจของประเทศในวงกว้าง
-
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม
รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้มีลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกและภูมิภาคอื่นๆ แม้ว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การดำเนินโครงการมีความล่าช้า แต่รัฐบาลก็สามารถผลักดันโครงการบางส่วนให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เริ่มเปิดให้บริการทั้งสายสีแดงและสายสีเหลือง รวมถึงสายสีชมพูที่กำลังจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้ และการอนุมัติเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางได้แก่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย และบ้านไผ่-นครพนม
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่สำคัญอีกอย่างน้อย 4 โครงการดังต่อไปนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้
-
การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งเกิดความล่าช้ามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างทางช่วงมาบกระเบา-จิระ ซึ่งทำให้เส้นทางรถไฟทางคู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เสร็จสิ้นไปมากแล้วไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ
-
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเกิดความล่าช้าในการประมูล นอกจากนี้การดำเนินงานให้เกิดตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วมของระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑลยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าโดยสารราคาแพง และระบบขนส่งมวลชนที่ลงทุนไปไม่ได้ถูกใช้อย่างคุ้มค่า
-
โครงการระบบขนส่งมวลชนในส่วนภูมิภาค ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น รวมทั้งโครงการรถรางในจังหวัดขอนแก่นที่ภาคธุรกิจและเทศบาลหลายแห่งได้พยายามผลักดันมานาน เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในส่วนของงบลงทุน
-
โครงการระบบขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ที่ยังไม่มีการเริ่มต้นก่อสร้างเลย ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ประการแรก ควรเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเร่งรัดการออกกฎหมายการขนส่งทางราง เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมให้บริการเดินรถไฟได้
ประการที่สอง ควรเร่งแก้ไขปัญหาการประมูลสัญญาสัมปทานสายสีส้ม และเร่งรัดให้เกิดค่าโดยสารร่วมทั้งระบบรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายน้อยลงในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ประการที่สาม ควรเร่งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค กระจายอำนาจและสนับสนุนด้านการเงินให้ท้องถิ่นสามารถให้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ของตนได้
-
การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ประกาศให้ความสำคัญต่อการพัฒนา “เศรษฐกิจดิจิทัล” และ “บริการรัฐบาลดิจิทัล” ผลงานที่สำคัญของรัฐบาลประกอบไปด้วย การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับคือ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และพ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ตลอดจนกฎหมายลำดับรองต่างๆ ซึ่งรวมถึง พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 และพ.ร.ฎ. จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่ออกมาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมนัก อาทิ
การบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562, การบังคับใช้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565, พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565
นอกจากนี้ บริการรัฐบาลดิจิทัลของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ประสบปัญหาที่หน่วยงานรัฐแต่ละแห่งต่างพัฒนาบริการของตนโดยไม่เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น จึงไม่มีลักษณะของ One-stop service อย่างแท้จริง แม้จะมีความพยายามพัฒนาแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” สำหรับประชาชนทั่วไป และ “Bizportal” สำหรับธุรกิจขึ้นเป็นแกนกลาง แต่ก็ยังไม่สามารถบูรณาการบริการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐทั้งหลายได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาจากการมีแอปพลิเคชันของภาครัฐจำนวนมากที่ใช้งานไม่ได้ หรือให้บริการซ้ำซ้อนกัน ซึ่งทำให้เกิดความสับสนของประชาชน
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ หนึ่ง พัฒนาบริการรัฐบาลดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ด้วยการบูรณาการบริการของหน่วยงานรัฐทั้งหลายเข้าด้วยกัน โดยยึดประชาชนผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง สอง เร่งออก พ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างเต็มที่โดยเร็ว สาม เร่งพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐให้สามารถให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชน และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด
-
การพัฒนาภาคเกษตร
โครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การช่วยเหลือเกษตรกร 6 โครงการ ได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ปลูกพืช 5 ชนิด (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และปาล์ม) และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการทำนา ซึ่งใช้เงินงบประมาณรวม 158,626 ล้านบาท ในปี 2565-2566 (สูงกว่างบประมาณกระทรวงเกษตรฯ 111,185 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวมีจุดอ่อนคือ ประการแรก มีเกษตรกรบางส่วนจดทะเบียนเกินโควตาที่รัฐบาลกำหนด ประการที่สอง มีการอุดหนุนชาวนา 2 โครงการที่ซ้ำซ้อนกัน ทำให้เกิดภาระการคลังสูงเกินความจำเป็น
ประการที่สาม เงินอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกพืช 5 ชนิดไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่ใช้เงินนอกงบประมาณขนาดใหญ่ ซึ่งจะกลายเป็นภาระของประชาชนในอนาคต โดยรัฐบาลให้ ธกส. จ่ายไปก่อนเพื่อไม่ให้ปรากฏในตัวเลขหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นการผิดวินัยทางการคลัง
ประการสุดท้าย หากเงินอุดหนุนดังกล่าวทำให้เกษตรกรปรับปรุงผลิตภาพการผลิต ทั้งเกษตรกรและประเทศก็จะได้ประโยชน์ แต่ผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอชี้ว่า การอุดหนุนเกษตรกรโดย “ไม่มีเงื่อนไข” ทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับตัว ดังนั้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยจึงไม่เพิ่มขึ้นและยังต่ำกว่าของกัมพูชา บังคลาเทศ ปากีสถาน เนปาล และอินเดีย
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการยกผลิตภาพของภาคเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางเดียวในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดแรงงาน เพิ่มผลผลิตและลดการใช้น้ำและทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จจริง โดยวิเคราะห์จุดอ่อนของโครงการต่างๆ ที่ดำเนินมาและแก้ไขจุดอ่อนเหล่านั้น แทนการริเริ่มโครงการใหม่โดยไม่ได้ถอดบทเรียนที่ผ่านมา นอกจากนี้การให้การอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลควรใช้เงินงบประมาณอย่างโปร่งใส หลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณ และกำหนดเงื่อนไขความช่วยเหลือของภาครัฐให้เกษตรกรต้องปรับปรุงผลิตภาพในการผลิต ใช้น้ำชลประทานอย่างประหยัด ลดการใช้สารเคมีและการเผาเศษวัสดุการเกษตรในไร่นา
-
การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ในช่วงแรก รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้พยายามยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางให้ทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากหลักสูตรแกนกลางในปัจจุบันถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2551 หรือผ่านมาแล้วเกือบ 15 ปี จึงค่อนข้างล้าสมัยและไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้สมรรถนะที่จำเป็น แต่ดำเนินการได้อย่างล่าช้า และภายหลังเมื่อมีการพัฒนากรอบหลักสูตรบางส่วนขึ้นมา ฝ่ายการเมืองกลับห้ามนำหลักสูตรไปใช้ ซึ่งทำให้ประเทศเสียโอกาสในการปรับหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ประการที่หนึ่ง เร่งปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้อิงกับสมรรถนะโดยเร็ว โดยอาจขยายผลการทดลองนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและถอดบทเรียนเพื่อนำไปใช้ทั่วประเทศ ประการที่สอง ปรับระบบการบริหารทรัพยากรด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน ประการที่สาม ประกาศนโยบายป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนและไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษา ตลอดจนวางกลไกป้องกันการฝ่าฝืนเช่น จัดระบบรับเรื่องร้องเรียน ประการที่สี่ ปรับปรุงการบริหาร กยศ. ให้มีความยั่งยืนทางการเงินมากขึ้น เช่น ใช้มาตรการสะกิดพฤติกรรม (behavioral nudge) ให้ผู้กู้เงินชำระเงินคืนโดยเร็ว เป็นต้น
-
การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
รัฐบาลประยุทธ์ 2 ไม่ได้แสดงถึงความพยายามในการปฏิรูปตำรวจและกองทัพซึ่งถูกตั้งคำถามด้านความโปร่งใสอยู่บ่อยครั้งเมื่อเกิดข่าวอื้อฉาว
ทั้งนี้รัฐบาลใหม่ควรขยายผลข้อตกลงคุณธรรมให้ครอบคลุมโครงการจัดซื้อจัดจ้างในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าสูง มีความเสี่ยงทุจริตสูงหรือต้องจัดซื้อจัดจ้างอย่างเจาะจง อาทิ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การจัดซื้ออาวุธและการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ควรเร่งปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการขออนุญาตก่อสร้าง
อีกทั้ง รัฐบาลใหม่ควรเร่งสะสางปัญหาที่ค้างคาจากรัฐบาลประยุทธ์ 2 โดยเร่งปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ร่าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญา และออกกฎหมายลูกของ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโปร่งใสขึ้น และควรเร่งปฏิรูปการใช้งบประมาณของกองทัพให้สามารถตรวจสอบได้
-
การคุ้มครองทางสังคม
ผลงานที่เด่นชัดที่สุดด้านการคุ้มครองทางสังคม (social protection) ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 คือการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาจากการระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ตามหากประเมินจากการริเริ่มนโยบายการให้ความคุ้มครองทางสังคมในระดับโครงสร้างแล้ว อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลประยุทธ 2 ไม่มีความโดดเด่นแต่อย่างใด
การขาดนโยบายความคุ้มครองทางสังคมเชิงรุกยังเห็นได้จากความล่าช้าของการขยายความครอบคลุม และความเพียงพอ ของสวัสดิการต่างๆ ซึ่งจะมีผลทำให้ประชาชนไม่สามารถรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ในอนาคต รวมทั้งการที่ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ประการแรก ควรจัดสวัสดิการที่ผสมผสานอย่างเหมาะสมระหว่างสวัสดิการเฉพาะกลุ่มและสวัสดิการถ้วนหน้า โดยสวัสดิการที่สำคัญต่อการดูแลประชาชนและสามารถพัฒนาคนในอนาคตควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะประเทศไม่สามารถแบกรับค่าเสียโอกาส (opportunity cost) จากปัญหาการตกหล่นที่เรื้อรัง เช่นการพัฒนาเด็กปฐมวัย การเพิ่มศักยภาพของแรงงานนอกระบบ และการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ส่วนสวัสดิการที่สำคัญน้อยกว่าอาจสามารถช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มได้เพื่อประหยัดงบประมาณ หรือใช้ทั้งสองแนวทางร่วมกันในบางสวัสดิการ ดังข้อเสนอล่าสุดของธนาคารโลกที่ให้เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 2,000 บาทเฉพาะผู้สูงอายุที่จนที่สุดร้อยละ 20 แล้วปรับลดลงตามระดับรายได้ที่สูงขึ้น โดยทุกคนยังได้เบี้ยยังชีพนี้อย่างถ้วนหน้าแต่ได้ไม่เท่ากันขึ้นกับฐานะทางเศรษฐกิจ
ประการสอง รัฐบาลใหม่ควรเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาความยากจนและให้สวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยอาจเรียนรู้แนวทางของประเทศจีนที่ใช้ฐานข้อมูลคนจนหรือผู้สมควรได้รับสวัสดิการระดับพื้นที่ที่ถูกต้องตามหลักสถิติ ซึ่งแม่นยำกว่าการใช้แนวทางให้คนจนมาแจ้งว่าตัวเองจน โดยใช้ข้อมูลชุดนี้ในการจัดสรรงบประมาณกระจายตามพื้นที่ (เช่นระดับจังหวัด ระดับอำเภอหรือตำบล) แล้วใช้กลไกรัฐบาลท้องถิ่นหรือชุมชนในการกระจายงบประมาณไปสู่คนจนหรือผู้สมควรได้รับสวัสดิการต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการให้คนจนมาจดทะเบียนซึ่งมีความคลาดเคลื่อนมากจากปัญหา “คนจนไม่จด คนจดไม่จน” ทั้งนี้รัฐบาลอาจพัฒนา “แผนที่ความยากจน” ต่อยอดจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยจัดทำมาเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกระจายงบประมาณดังที่กล่าวข้างต้น
ประการสาม รัฐบาลใหม่ควรหลีกเลี่ยงนโยบายที่อาจก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อระบบความคุ้มครองทางสังคม เช่น นโยบาย “ขอเลือก ขอคืน และขอกู้” ของรัฐบาลประยุทธ 2 ที่ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถนำเงินกรณีชราภาพออกมาใช้ก่อนบางส่วน ซึ่งผิดหลักการประกันสังคมและจะทำให้ประชาชนสูงอายุไม่มีเงินบำนาญเพียงพอในอนาคต
-
การแก้ปัญหาแรงงาน
การประเมินนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะเน้น 3 ด้านที่สำคัญคือ ค่าจ้างแรงงาน สวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน และนโยบายแรงงานข้ามชาติในกลุ่มทักษะสูงและกลุ่มทักษะปานกลาง-ต่ำ ซึ่งผลของการดำเนินนโยบายโดยรวมยังไม่ประจักษ์ชัด ทำให้ทั้งศักยภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานไม่แตกต่างจากก่อนที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายดังต่อไปนี้ ประการแรก รัฐบาลควรกำหนดกรอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่ต้องการโดยให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและผลิตภาพแรงงาน และปรับขึ้นอย่างเป็นระยะเช่น ทุกปี หรือทุก 2 ปี เพื่อสร้างหลักประกันว่าแรงงานจะได้รับค่าจ้างในระดับที่เหมาะสม และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำในสถานประกอบการต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานอย่างไม่เป็นทางการ ตลอดจนอาจพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง
ประการที่สอง รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายในเชิงรุกในการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย ประการที่สาม รัฐบาลใหม่ควรสานต่อนโยบายการดึงดูดแรงงานต่างชาติทักษะสูงและเร่งรัดให้เกิดผลสำเร็จ ควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายแรงงานต่างชาติทักษะปานกลาง-ต่ำในระยะยาวให้ชัดเจน โดยมุ่งให้ประเทศไทยพึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้ลดลงในอนาคต จากการยกระดับภาคการผลิตของไทยให้ใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมากขึ้น
-
การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
การประเมินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะพิจารณาจาก 2 เรื่องหลักคือ นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
อย่างไรก็ดี เป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลยังขาดความชัดเจนมาก
ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ควรมีนโยบายดังต่อไปนี้ ประการแรก ควรเร่งนำกลไกราคาคาร์บอนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นภาษีคาร์บอนหรือตลาดคาร์บอนภาคบังคับ ประการที่สอง ควรเร่งปลดล็อคกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการเปิดให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบ peer-to-peer ประการที่สาม ควรสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในราคาที่เหมาะสม ประการที่สี่ ควรปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้มข้นมากขึ้น ทั้งในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสนับสนุนการปรับตัวของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ประการที่ห้า ควรเร่งสร้างความตระหนักรู้ต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในส่วนของปัญหา PM2.5 รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้กำหนดให้การจัดการปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ และได้จัดทำแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ปี 2562 นอกจากนี้รัฐบาลยังตั้งคณะทำงานวิชาการเฉพาะกิจเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการไฟป่าและการเผาในที่โล่งเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้ทราบอย่างชัดเจนว่าการเผาฟางและตอซังข้าวเป็นต้นเหตุอันดับสำคัญ รองลงมาคือข้าวโพด ส่วนอ้อยมีสัดส่วนที่น้อยกว่าที่เข้าใจ
จุดอ่อนสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้คือรัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาวอย่างจริงจัง ทั้งการจัดการกับรถยนต์เก่าโดยเฉพาะรถบรรทุกและรถโดยสารประจำทางที่ปล่อยไอเสียเกินมาตรฐานยูโร 3 และการให้เกษตรกรเลิกเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยสนับสนุนการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวหรือจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ได้บัญญัติกฎหมายที่สามารถเอาผิดกับผู้ที่ก่อมลพิษข้ามพรมแดนในลักษณะของกฎหมาย Transboundary Haze Pollution Act ของสิงคโปร์
ทั้งนี้รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิผลมากขึ้นในการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยดำเนินการดังนี้
-
ประการแรก ควรเร่งจัดการกับรถยนต์เก่าโดยเฉพาะรถบรรทุก รถโดยสารประจำทางโดยเฉพาะรถโดยสารของ ขสมก. โดยสนับสนุนให้เจ้าของรถปรับเปลี่ยนมาใช้รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถที่มีมาตรฐานการระบายไอเสียระดับยูโร 5 หรือยูโร 6 ขึ้นไป โดยให้มาตรการจูงใจเช่นสิทธิในการลดหย่อนภาษี
-
ประการที่สอง ควรสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตรหรืออุปกรณ์ในการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดการเผา รวมถึงสร้างอาชีพทางเลือกแก่ผู้ที่เผาป่าเพื่อทำการเกษตรหรือเก็บของป่า
-
ประการที่สาม ควรกำหนดให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เปิดเผยข้อมูลการผลิตฝุ่น PM2.5 ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคมให้ลดการก่อมลพิษ และควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อลดการผลิตฝุ่น PM2.5 ที่มาจากแหล่งกำเนิดในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ส.ค. 66)
Tags: TDRI, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, รัฐบาล