TAN ปิดเทรดวันแรกที่ 16.40 บาท ลดลง 0.10 บาท (-0.61%) จากราคา IPO ที่ 16.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,244.66 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 16.80 บาท ราคาสูงสุด 17.40 บาท ราคาต่ำสุด 14.00 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์หุ้น บมจ.ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น (TAN) จากการประเมินมูลค่าเบื้องต้น 2 วิธี ดังนี้ วิธี PER ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันที่จำหน่ายเครื่องประดับเช่น JUBILE ที่ 13.5x เท่าแต่อยู่ใน MAI จะต่ำกว่า IPO และ วิธี PER ของกลุ่มอุตสาหกรรม COMM ที่ 28.3x ได้มูลค่าเหมาะสมที่ 18.50 บาท
TAN ประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์แฟชั่น โดยเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลกในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ แบรนด์แพนดอร่า (Pandora) จากเดนมาร์ก แบรนด์มารีเมกโกะ (Marimekko) จากฟินแลนด์ และแบรนด์แคท คิดสตัน (Cath Kidston) จากอังกฤษ รวมทั้งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Cath Kidston ในเวียดนามด้วย
นอกจากนี้ ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ในกลุ่ม “หาญ (HARNN)” ซึ่งประกอบด้วย 1.แบรนด์หาญ (HARNN) จำหน่ายสินค้าบอดี้แคร์ สกินแคร์ สปา และอโรมาเทอราพี 2.แบรนด์วุฒิ (Vuudh) จำหน่ายสินค้าเครื่องหอมสไตล์ไทยร่วมสมัย และ 3. ธุรกิจสปาในไทยและต่างประเทศที่มี 4 แบรนด์ย่อยตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ หาญ เฮอริเทจ สปา (HARNN Heritage Spa), บาย หาญ (by HARNN), เดอะสปา บาย หาญ (The Spa by HARNN) และ เอสเคป บาย หาญ (SCape by HARNN)
กลุ่มบริษัทมีแบรนด์สินค้าภายใต้การดำเนินงาน 5 แบรนด์ และมีแบรนด์ธุรกิจสปาอีก 4 แบรนด์ ซึ่งมีสาขาตั้งอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 131 สาขา (เป็นเจ้าของ 122 สาขา และเฟรนไชส์ 9 สาขา) รวมถึงการจำหน่ายทางออนไลน์ด้วย และยังมีการขยายธุรกิจเข้าไปในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งล่าสุดปี 66 บริษัทได้รับสิทธิในการบริหารจัดการร้านอาหารในเครือของ Gordon Ramsy เป็นเวลา 10 ปี คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการภายในปีนี้ได้ 2 สาขา
ทั้งนี้ด้วยอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์มีการแข่งขันสูง การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ทำได้ง่าย รวมทั้งผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่รวดเร็ว แต่บริษัทมีจุดแข็งจากการที่แบรนด์สินค้าของบริษัทได้รับความนิยม สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้เป็นอย่างดี และสินค้าเป็นสินค้าคุณภาพระดับพรีเมียมที่ราคาเข้าถึงง่าย จึงเกิด Brand Royalty ที่สูงตามมาด้วย
ประกอบกับค่านิยมคนรุ่นใหม่ที่หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลและเชื่อมโยงกับกลุ่มสังคม ซึ่งสินค้าของบริษัทตอบโจทย์ความต้องการในส่วนนี้ ทำให้สามารถชิงส่วนแบ่งตลาดในแต่ละผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาได้ (ในปี 65 มีส่วนแบ่งตลาด ดังนี้ Pandora ร้อยละ 43, Marimekko ร้อยละ 34.5, Cath Kidston ร้อยละ 23.2 และ HARNN ร้อยละ 16.1
กลยุทธ์การขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจ แม้จะมีการแข่งขันสูง แต่บริษัทสร้างการรับรู้ประสบการณ์การใช้สินค้าจริงผ่านทาง Marimekko pop-up และ Cath Kidston Tearoom มาต่อยอดแบรนด์สินค้าให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้บริษัทสามารถขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น
ขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมความงามและสปาระดับพรีเมียมมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง และแบรนด์หาญเป็นผู้เล่นที่มีอายุน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นที่ใกล้เคียงกัน แต่มีจุดเด่นในด้านของผลิตภัณฑ์เสริมความงามและสุขภาพที่มีควบคู่ไปกับการให้บริการสปาระดับพรีเมียม ดังนั้นการระดมทุนในครั้งนี้ตามวัตถุประสงค์จึงมีความเหมาะสม
รายได้ของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง (หากไม่นับปี 64 ที่เกิดโควิด) โดยผันแปรตามกำลังซื้อ และสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจากลักษณะสินค้าของบริษัทที่เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์แฟชั่น พฤติกรรมผู้บริโภคมักเป็นการซื้อตามโอกาส เป็นครั้งคราว หรือตามช่วงเทศกาล โดยสัดส่วนรายได้หลักอยู่ในแบรนด์ Pandora คิดเป็นราวร้อยละ 50
ขณะที่การปรับราคาสินค้าของบริษัทสามารถส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้บริโภคได้ ส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น มองว่าในระยะสั้นรายได้จะขยายตัว จากการบริโภคที่ฟื้นตัว และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะในธุรกิจสปา ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในระยะยาว หากการขยายธุรกิจเข้าไปสู่ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมีผลตอบรับที่ดี รวมทั้งบริษัทมีการเพิ่มแบรนด์สินค้าใหม่ จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้
อัตรากำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง(หากไม่นับปี 64) ทั้งอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิ จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลังการบริโภคฟื้นตัว การขึ้นราคาสินค้าและลดความถี่ของการให้ส่วนลด มองว่าระยะสั้น อัตรากำไรสุทธิจะฟื้นตัวตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนขายที่ลดลง แต่อาจถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น จากค่าเช่าที่กลับมาเป็นอัตราปกติ ค่าใช้จ่ายการตลาดและส่งเสริมการขาย รวมทั้งเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานที่เพิ่มขึ้น ในระยะยาว อัตรากำไรสุทธิจะขยายตัวตามรายได้ แต่หากมีการขยายสาขาหรือเพิ่มแบรนด์สินค้า คาดว่าค่าใช้จ่ายจะกดดันอัตรากำไรในช่วงแรก
ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ 1. การเปิดดำเนินการร้านอาหารในเครือของ Gordon Ramsy 2. การเพิ่มยอดขายของแบรนด์กลุ่มหาญ 3. การขยายสาขา 4. การเพิ่มแบรนด์สินค้าใหม่ และ ความเสี่ยง คือ การพึ่งพิงสิทธิในการจำหน่ายแบรนด์สินค้าจากต่างประเทศ, กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ, การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 66)
Tags: TAN, ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น, ธุรกิจค้าปลีก, หุ้นไทย