STX ปิดเทรดวันแรก 2.30 บาท ลดลง 0.70 บาท หรือ -23.33% จากราคา IPO 3.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 349.98 ล้านบาท จากราคาเปิด 2.78 บาท ราคาสูงสุด 2.98 บาท ราคาต่ำสุด 2.30 บาท
บล.ทิสโก้ ประเมินราคาหุ้น บมจ. สโตนวัน (STX) เบื้องต้น อิงจาก PER เฉลี่ยของผู้ประกอบธุรกิจที่ใกล้เคียงกันในต่างประเทศที่ 16.02 เท่า มองว่ามูลค่าเหมาะสม ณ ราคา IPO มีพรีเมียมแล้ว
STX ประกอบธุรกิจเหมืองหินและแร่ โดยผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หินอุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิตและชนิดหินปูน รวมทั้งผลิตภัณฑ์แร่โดโลไมต์ และให้บริการด้านขนส่งเพื่อการขนส่งสินค้าและบริหารจัดการควบคุมสต็อคสินค้าให้แก่ลูกค้าที่ไซต์งานอย่างครบวงจร โดยเหมืองตั้งอยู่ที่ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และพื้นที่เชื่อมต่อ ต.รางบัว และ ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
บล.ทิสโก้ เห็นว่า การแข่งขันในธุรกิจเหมืองหินและแร่ไม่สูง เนื่องจากระยะเวลาในการระเบิดขุดหินและโม่บดหินในแต่ละวันที่จำกัด รวมทั้งการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ทำได้ยาก ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้เงินลงทุนสูง ประกอบกับต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น การระเบิดหินให้ได้อัตราความสำเร็จของผลผลิต (yield) สูงสุด ขณะที่ผลิตภัณฑ์สามารถทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกระบวนการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าในแง่ของขนาด คุณสมบัติ และคุณภาพ ประกอบกับเหมืองของบริษัทอยู่ใกล้แหล่งก่อสร้าง เช่น โซน EEC ซึ่งมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการตามการสนับสนุนของรัฐบาล อุปสงค์ต่อวัสดุก่อสร้างจึงสูงตามไปด้วย สร้างความได้เปรียบแก่บริษัท เนื่องจากต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่า
ส่วนรายได้เติบโตจากโครงการก่อสร้าง คาดรายได้ปี 2567 ขยายตัว จากการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น และได้ประโยชน์จากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ พ.ค. เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าอุปสงค์วัสดุก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งแร่โดโลไมต์ ผลิตภัณฑ์ล่าสุดของบริษัทผลักดันให้ยอดขายเติบโต โดยปี 2566 ที่ผ่านมาเติบโตราวร้อยละ 50 จากการออกผลิตภัณฑ์แร่โดโลไมต์ผงที่ใช้ประโยชน์ได้ในหลายอุตสาหกรรม เพื่อเสริมความแข็งแรงของวัสดุ เช่น คอนกรีต แก้วและกระจก เป็นต้น โดยหากอิงจากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในช่วง 1Q24 คาดว่าราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ในปี 2024 จะทรงตัว YoY
ขณะที่ กำไรขยายตัวตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของอุปสงค์ในการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ช่วยหนุนอัตรากำไรของบริษัทจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งรายได้จากแร่โดโลไมต์ ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าอัตรากำไรขั้นต้นจากผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ขณะที่คาดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับมีกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ถาวรที่คาดว่าเพิ่มเข้ามา
อย่างไรก็ตามเหมืองแห่งใหม่ที่บริษัทคาดว่าจะเริ่มเข้าลงทุนได้ในปี 2567 อาจมีต้นทุนในการดำเนินงานช่วงแรก ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น แต่โดยภาพรวมยังคาดว่าปี 2567 จะเห็นการเติบโตของกำไร
การระดมทุนในครั้งนี้เพื่อลงทุนเหมืองแร่แห่งใหม่มีความเหมาะสม เนื่องจากจะช่วยเพิ่มปริมาณวัตถุดิบให้แก่บริษัท ซึ่งจะสร้างการเติบโตของรายได้ในอนาคต และปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ ได้แก่ เหมืองแห่งใหม่ที่บริษัทจะเข้าไปลงทุน ตั้งอยู่ที่ ต.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี (อยู่ระหว่างการยื่นคำขอประทานบัตรใหม่) และ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี (ได้รับอนุญาตประทานบัตร เป็นระยะเวลา 29 ปี) นอกจากนี้บริษัทมีแผนจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.055 บ./หุ้น หลังผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 2 พ.ค. 67 ซึ่งจะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (XD) 16 พ.ค.
ความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1) การสำรวจและจัดหาแหล่งวัตถุดิบ 2) การเปลี่ยนแปลงของปริมาณสำรอง 3) การต่ออายุประทานบัตร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 67)