STEC ปรับโครงสร้างสู่ STECON วางเป้ารุกธุรกิจใหม่สร้าง Recurring Income 50% ใน 5-10 ปี

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เปิดเผยถึงก้าวที่สำคัญของ STEC ในการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Holding Company ภายใต้ชื่อ บมจ.สเตคอน กรุ๊ป (STECON) เพื่อประกอบธุรกิจในลักษณะบริษัทลงทุนที่ไม่ได้ทำธุรกิจของตนเอง (Non-operating Holding Company) แต่เข้าถือหุ้นในบริษัทอื่นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการมีอำนาจควบคุมกิจการในบริษัทอื่น เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

โดยบริษัทมีแผนลงทุนในธุรกิจที่สร้าง Recurring Income และธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง (New S-Curve) วางเป้าหมายในช่วง 5 – 10 ปี ข้างหน้า ดันรายได้ในธุรกิจใหม่เติบโตอย่างโดดเด่น หวังกระจายความเสี่ยง สร้างรายได้ประจำ เสริมแกร่งธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ไปยังธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากธุรกิจวิศวกรรมและก่อสร้างเดิม

ทั้งนี้ภายหลังจากการปรับโครงสร้าง สามารถแบ่งประเภทการดำเนินธุรกิจของบริษัท ได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) กลุ่มธุรกิจหลัก และ (2) กลุ่มธุรกิจอื่น

โดยกลุ่มธุรกิจหลักแบ่งออกเป็น

(1) ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ดำเนินการภายใต้ชื่อ STEC

(2) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานและพลังงาน ดำเนินการภายใต้ชื่อ “Stecon Power”

(3) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่ง ดำเนินการภายใต้ชื่อ “Stecon Logistics & Transportation”

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่น ดำเนินการภายใต้ชื่อ STECX Ventures ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความสามารถในการเติบโตสูง สร้างรายได้ให้กับบริษัท และผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับนักลงทุน โดยแต่ละธุรกิจยังสามารถสร้าง synergy ร่วมกัน เพื่อสร้างโอกาสการเติบที่มั่นคงในอนาคต ปัจจุบัน STEC อยู่ระหว่างเจรจาโครงการใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นรายได้จากธุรกิจอื่น เข้ามาเสริมธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในปี 2568

“STECON มีเป้าหมายลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ และรองรับแผนการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยมีแผนลงทุนในธุรกิจที่สร้าง Recurring Income และธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง (New S-Curve) เพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ไปยังธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากธุรกิจวิศวกรรมและก่อสร้างเดิม ซึ่งคาดว่าสัดส่วนรายได้ในธุรกิจใหม่ในช่วง 5 – 10 ปีข้างหน้าจะเห็นการเติบโตอย่างโดดเด่น และมีสัดส่วนอย่างมีนัยสำคัญต่อกลุ่มบริษัท เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่นักลงทุนอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว”

เพื่อดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างให้สำเร็จและลุล่วง บริษัทจึงขอเชิญชวนให้ผู้ถือหุ้นของ STEC นำหุ้นของตนที่จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามแผนการปรับโครงสร้าง ไปแลกเป็นหุ้นของ STECON ที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนที่หุ้นของ STEC โดย STECON จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์กับ STEC โดย STECON จะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนในจำนวนที่เท่ากับทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ STEC เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญของ STEC ในอัตราเท่ากับ 1 หุ้นสามัญของ STEC ต่อ 1 หุ้นสามัญของ STECON ซึ่งผู้ถือหุ้นของ STEC สามารถตอบรับคำเสนอซื้อของ STECON เพื่อดำเนินการแลกหุ้นได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 (เฉพาะวันทำการ)

โดยผู้ถือหุ้นสามารถดำเนินการยืนยันการใช้สิทธิ์ผ่านทางตัวแทนหลักทรัพย์ของท่านที่ให้บริการ และผ่านช่องทางออนไลน์ในระบบ E Tender Offer ซึ่งเป็นระบบของ Tender Agent และสามารถศึกษารายละเอียดขั้นตอนการตอบรับคำเสนอซื้อ ผ่านทาง www.stecon.co.th โดยภายหลังการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เสร็จสิ้นตามแผนการปรับโครงสร้าง STEC จะดำเนินการเพิกถอนหุ้นของตนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทโฮลดิ้งจะเข้าจดทะเบียนแทนที่ STEC ในวันเดียวกัน ซึ่งบริษัทโฮลดิ้งจะใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ (Ticker) เป็น STECON ซึ่ง STECON จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของ STEC ในฐานะบริษัทใหญ่ โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2567

ถึงแม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจมหภาคและการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ภายหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมเดินหน้าการลงทุนโครงการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยภาครัฐได้ทยอยเปิดประมูลงานใหม่ ๆ ซึ่ง STEC มีแผนที่จะเพิ่มกำไรของธุรกิจก่อสร้างจากการเพิ่มสัดส่วน Backlog ในโครงการที่มีขนาดใหญ่

ทั้งนี้ STEC จะมีการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อกิจการในอนาคต ทำให้ STEC มีโอกาสได้รับงานใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมในอนาคต เนื่องด้วยมีประสบการณ์ด้านงานก่อสร้างมาอย่างยาวนาน มีศักยภาพการทำงานที่เปี่ยมประสิทธิภาพ เป็นผู้นำในด้านการบริหารต้นทุน ที่มาพร้อมกับพันธมิตรที่มีความเชียวชาญ อีกทั้งยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ภายหลังจากการปรับโครงสร้าง STECON สามารถแบ่งแยกประเภทของธุรกิจให้ชัดเจน เพื่อบริหารจัดการ แบ่งแยกและจำกัดความเสี่ยงที่แตกต่างกันในแต่ละธุรกิจ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นคงและเติบโตในอนาคต

“STEC มีประสบการณ์ด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาอย่างยาวนาน สามารถรักษา Backlog ใกล้เคียงระดับ 1 แสนล้านบาทได้อย่างต่อเนื่อง มีผลประกอบการที่เป็นกำไรมาโดยตลอด รวมทั้งมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลในแก่นักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ เพื่อสร้างรายได้ประจำที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจ สร้างโอกาสในการเข้าถึงธุรกิจที่มีการเติบโตสูงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” นายภาคภูมิ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 67)

Tags: , , ,