SRS ปิดเทรดวันแรกที่ 12.40 บาท ต่ำจอง 22.50% โบรกฯให้เป้า 17.60 บาท

SRS ปิดเทรดวันแรกที่ 12.40 บาท ลดลง 3.60 บาท (-22.50%) จากราคา IPO ที่ 16.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 4,721.15 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 21.60 บาท ราคาสูงสุด 22.40 บาท ราคาต่ำสุด 11.90 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นบมจ.สิริซอฟต์ (SRS) ในระยะสั้น เรามองว่าสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยต่างประเทศและภายในประเทศ ทำให้เม็ดเงินในการลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีในองค์กรอาจจะชะลอตัวเล็กน้อย และการแข่งขันที่สูงมากในอุตสาหกรรมเนื่องจากเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562-2565 ส่งผลให้เกิดความต้องการบริการที่ปรึกษาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการ Work from home, Study from home ฯลฯ อย่างมากทำให้บริษัทฯมีกำไรที่เติบโตอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นการเติบโตที่ผิดปกติที่เกิดมาจากปัจจัยด้านเหตุการณ์ (Event driven) ทำให้เกิดสภาวะของการเติบโตเมื่อเทียบปีต่อปีที่ช้าลงจากฐานกำไรที่สูงในอดีต

โดยในปีกำไรสุทธิ 2564 และ 2565 บริษัทฯ มีการเติบโตของต่อปีระดับ 76.93% และ 169.70% ตามลำดับ และถึงแม้ก็ 6 เดือนแรกปี 66 บริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างดีซึ่งดูได้จากรายได้เติบโตจาก 213.75 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนปี 65 เป็น 306.05 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 43.75% แต่ในส่วนของกำไรนั้นเริ่มชะลอการเติบโตลง โดยช่วง 6 เดือนปี 65 อยู่ที่ระดับ 49.31 ล้านบาท ในขณะที่ 6 เดือนแรกปี 66 อยู่ที่ระดับ 47.34 ล้านบาท หดตัวลง -4.16%

นอกจากนี้ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิได้หมดไปเนื่องจากการได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กิจการซอฟต์แวร์ที่บริษัทได้รับเป็นเวลา 7 ปี นับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2558 – 22 ก.ค. 2565 นั้นครบเวลาที่กำหนดทำให้ต้นทุนทางภาษีหลังเข้าจดทะเบียนตลาดสูงขึ้นกว่าเดิมจากปีก่อนหน้า เราจึงมองว่าการในระยะสั้นสามารถเข้าลงทุนได้ ณ ราคา IPO เนื่องจากยังมี Upside จากราคาเหมาะสมที่เราประเมินประมาณ 10% แต่เน้นการขายเพื่อทำกำไรระยะสั้นหากราคาเข้าใกล้มูลค่าที่เหมาะสม

ในระยะยาว เรามองว่าธุรกิจที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี (Tech consult) มีแนวโน้มเติบโตที่ดีไปตามกระแส Digital Transformation ซึ่งอ้างอิงจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) คาดว่าในปี 2561-2568 การเติบโตของ Data Analytic ในประเทศไทยจะโตจาก 1.48 หมื่นล้านบาท สู่ระดับ 4.79 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตแบบทบต้น (CAGR) เฉลี่ย +18.3% ต่อปี ในกลุ่มธุรกิจ Cyber Security เติบโต จากปี 2560 -2568 CAGR +11.30% ต่อปี ซึ่งล้วนสะท้อนถึงการแนวโน้มความต้องการ Digital Transformation และถึงแม้ระดับ P/E ของอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูงแต่เมื่อเทียบกับโอกาสในการเติบโตระยะยาวแล้วก็ยังมีความน่าสนใจในการลงทุนระยะยาว

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในการเติบโตระยะยาวอย่างมั่นคงได้คือ การขยายฐานลูกค้าเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงลูกค้าน้อยรายเนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่เพียง 3 ราย ในอัตราส่วนที่สูงถึง 80.51% ของรายได้รวม สำหรับ งวด 6 เดือนสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2566 เพื่อเป็นทั้งการกระจายความเสี่ยงของการกระจุกตัวของรายได้ และเป็นการขยายฐานลูกค้าเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน ดังนั้น หากราคามีส่วนลดจากราคาเหมาะสมที่เราประเมินอย่างน้อย 20% จะเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนในระยะยาว

ความเสี่ยง : 1) การพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่ 3 ราย 2) การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม 3) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี 4) ความเสี่ยงในการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 5) ความเสี่ยงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50

จากการประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วยวิธี Forward PER ซึ่งได้ EPS = 0.49 และอิงตัวคูณที่ระดับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง PER ของกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่ 36.04 เท่า ได้มูลค่าเหมาะสมที่ 17.60 บาท

SRS ให้คำปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับองค์กร โดยให้บริการออกแบบ พัฒนา และดูแลรักษาระบบ ผ่านแนวทางการทำงานแบบ DevOps (Development & Operations) รวมถึงขายสิทธิการใช้งานซอฟต์แวร์ (Licenses) ที่ใช้ในการพัฒนาระบบจากบริษัทชั้นนำระดับสากล เช่น (1) Red Hat (2) Oracle (3) Dynatrace (4) Huawei เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังให้บริการให้คำปรึกษาด้านการรักษาความปลอดภัยบนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและให้บริการพัฒนาระบบ Cyber Security บริการบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมไปถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร และขายเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงสำหรับงานบริการพัฒนาระบบให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า

ในปี 2565 กลุ่มบริษัทฯ มีอัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) อยู่ที่ระดับ 3.42 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูง อย่างไรก็ดี สัดส่วนหลักของหนี้สินดังกล่าวมาจาก 1) การเพิ่มขึ้นของหนี้สินที่เกิดจากสัญญา ซึ่งเป็นผลมาจากการทำสัญญางานพัฒนาระบบ งานบริการให้คำปรึกษาและพัฒนา งานบำรุงรักษาระบบ และการให้สิทธิใช้งานซอฟต์แวร์แบบ Subscription License แก่ลูกค้าซึ่งบริษัทมีการรับเงินล่วงหน้าแต่ยังไม่ได้ให้บริการหรืออยู่ระหว่างให้บริการแก่ลูกค้า 2) การเพิ่มขึ้นจากสัญญาเช่าเนื่องมาจากกลุ่ม

บริษัทฯ ได้มีการขยายพื้นที่สำนักงานเพื่อรับรองจำนวนพนักงานที่มาขึ้น ซึ่งหนี้สินจาก 2 รายการดังกล่าว เรามองว่าเป็นหนี้สินที่เกิดจากการดำเนินงานต่างจากหนี้สินที่เป็นภาระทางการเงิน

ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ก่อนจ่ายเงินปันผล อยู่ที่ระดับ 0.71 เท่า ซึ่งถือว่าไม่ได้สูงมากจนเกินไป นอกจากนี้อัตราส่วนผู้ถือหุ้นจะดีขึ้นหลังการ IPO เนื่องจากส่วนผู้ถือหุ้นจะเพิ่มขึ้นทำให้อัตราส่วนเกี่ยวกับหนี้สินไม่เป็นปัจจัยที่น่ากังวล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 66)

Tags: , ,