SMD ส่ง “ชุดตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A & B ด้วยตนเอง” ออกวางตลาดรับสถานการณ์ระบาดหนัก

บมจ.เซนต์เมด (SMD) ระบุว่าตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนธันวาคม 2566 ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก บริษัทจึงเตรียมพร้อมกระจายสินค้า “ชุดตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A & B แบบตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง” ยี่ห้อ Baicare ซึ่งเป็นแบรนด์เดียวกับชุดตรวจ ATK ที่จำหน่ายช่วงโอมิครอนระบาดหนัก โดยจะจำหน่ายผ่านร้านขายยาที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ

ปัจจุบันบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ชุดตรวจไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A & B จัดจำหน่ายอยู่ทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้ 1) SARS-CoV-2 and Influenza A+B Antigen Combo Rapid Test (Colloidal Gold) 2) Influenza A & Influenza B Antigen Combo Rapid Test (Colloidal Gold) 3) ชุดตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A&B แบบตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง – Influenza A & Influenza B Antigen Combo Rapid Test (Colloidal Gold)

โดยชุดตรวจประเภทที่ 1 และ ประเภทที่ 2 ซึ่งมีข้อห้าม 2 ประการ คือ “ห้ามบุคคลทั่วไปนำไปใช้ตรวจตัวเอง และห้ามขายแก่บุคคลทั่วไป” ซึ่งข้อความทั้งสองดังกล่าวนี้ได้ระบุไว้ให้เห็นชัดเจนบนฉลากหน้ากล่องสินค้า ดังนั้น สินค้าทั้ง 2 ประเภทนี้ บริษัทฯ จะจัดจำหน่ายให้แก่ โรงพยาบาล คลินิก และตัวแทนจำหน่ายช่วง เท่านั้น

แต่สำหรับชุดตรวจประเภทที่ 3 ซึ่งเป็นชุดตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A&B แบบตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง จะมีข้อความระบุบนฉลากหน้ากล่องว่า “บุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้” ดังนั้น บริษัทฯ จะจัดจำหน่ายสินค้าประเภทที่ 3 นี้ ให้แก่ ตัวแทนจำหน่ายช่วงและร้านขายยาที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ

นายวิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMD กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีการลักลอบจัดจำหน่ายชุดตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A & B แบบ Professional Use หรือ ชุดตรวจโควิดและชุดตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A & B อยู่ในชุดเดียวกัน แบบ Professional Use อีกทั้งยังมีการจัดจำหน่าย ชุดตรวจโควิดและชุดตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A & B และ RSV ที่อยู่ในชุดเดียวกัน แบบ Professional Use ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์

แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้จะมีข้อห้าม “ห้ามบุคคลทั่วไปนำไปใช้ตรวจตัวเอง และห้ามขายแก่บุคคลทั่วไป” โดยข้อความดังกล่าวจะระบุไว้ชัดเจนหน้ากล่องผลิตภัณฑ์ ซึ่งหมายความว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องถูกใช้งานโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น เนื่องจาก มีโอกาสเกิด Cross Sex และ/หรือ เหตุผลอื่นๆ อีกหลายประการ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนทั่วไปสับสนหรือตื่นตระหนกได้

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการลักลอบจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็น Professional Use หลากหลายผลิตภัณฑ์ให้แก่ประชาชนทั่วไป ในรูปแบบถอดกล่องสินค้าและฉลากสินค้าทั้งหมดทิ้งไป โดยนำชุดตรวจใส่ในถุงซิปพลาสติกใส ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายวิโรจน์ เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งที่กลับจากไปดูงานในต่างประเทศปลายปี 65 มีอาการป่วยใกล้เคียงกับโควิด จึงตรวจ ATK COVID-19 ผลตรวจเป็นลบ จึงได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่นี้และตรวจพบเชื้อ Influenza A หลังจากนั้นจึงรีบไปพบแพทย์โดยทันที และได้ยามารับประทาน ถือว่าเป็น Early Detection – Early Treatment – Early Recovery ตามข้อเท็จจริงแล้วการตรวจพบโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A & B ยิ่งเร็วเท่าไหร่ การรักษาด้วยยาก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้นเช่นกัน อีกทั้ง โรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A & B ในผู้ป่วยบางรายมีอาการใกล้เคียงกันมาก แต่การรักษาด้วยยาจะต่างกัน

ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่า โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน

สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ในคนมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็นหลายซัปไทด์ ซัปไทด์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น 2 lineages คือ Victoria และ Yamagata โดยอาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A

อาการป่วยจะเริ่มหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้แบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ (post viral bronchitis) อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา (common cold) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดบวม ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , ,