SINGER-SGC กอดคอไหลลง โบรกฯหั่นเป้าวูบแนะ “ขาย” กังวล NPL พุ่ง-เปลี่ยนผู้บริหารกลางปัญหาเพียบ

SINGER-SGC ราคาหุ้นปรับตัวลงรับความกังวลปัญหาในการดำเนินธุรกิจ

เมื่อเวลา 10.45 น. โดย SINGER ลบ 2.11% มาอยู่ที่ 13.90 บาท ลดลง 0.30 บาท มูลค่าซื้อขาย 57.30 ล้านบาท

ส่วน SGC ลบ 4.76% มาอยู่ที่ 2.40 บาท ลดลง 0.12 บาท มูลค่าซื้อขาย 15.38 ล้านบาท

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ มอง บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เป็น “ลบ” มากขึ้น หลังจากที่ NPL เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสที่แล้ว และการที่ผู้บริหารลาออกแสดงว่าปัญหา NPL อาจจะรุนแรงกว่าที่เราคาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ จึงปรับเพิ่มสมมติฐาน credit cost และปรับลดสมมติฐานอัตราการเติบโตของสินเชื่อ ดังนั้น จึงปรับลดประมาณการกำไรปี 66-67 ลง 53% และ 28% รวมถึงปรับลดราคาเป้าหมายปี 66 เหลือ 11.60 บาท และลดคำแนะนำจากถือเป็นขาย

นอกจากนั้น SINGER แจ้ง SET ว่า นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และบริษัทได้แต่งตั้ง นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ (CEO ของ J-Mobile) เป็น CEO คนใหม่ของ SINGER

เคจีไอ มองว่า นายกิตติพงศ์ ถือเป็นผู้บริหารสำคัญที่นำพา SINGER พลิกฟื้นสถานการณ์จากขาดทุนเป็นการฟื้นตัว สถานการณ์นี้ดูไม่ปกติ เพราะ SINGER กำลังเผชิญกับปัญหา NPL ก้อนใหญ่จากธุรกิจสินเชื่อลิสซิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดำเนินการจากบริษัทลูก คือ บมจ.เอสจี แคปปิตอล (SGC) ดังนั้น การลาออกของผู้บริหารคนสำคัญจึงเป็นสัญญาณลบต่อแนวโน้มผลประกอบการในระยะสั้น และทำให้เกิดความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว

แนวโน้มการเติบโตน่าเป็นห่วง SINGER ถูกวางกลยุทธ์ให้เป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับ J-Mobile โดยยอดขายในปี 65 ของ SINGER เกือบ 1 พันล้านบาท (หรือประมาณ 36% ของยอดขายรวม) เป็นการขายสินค้า IT ที่มากจาก J-Mobile นอกจากนี้ JMART (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SINGER) ก็พยายามจะผลักดันให้ SINGER เป็นกลไกหลักสำหรับธุรกิจการปล่อยขยายสินเชื่อผู้บริโภคบนฐานลูกค้าของ BRR

ทั้งนี้ การเปลี่ยนตัวผู้บริหารรอบล่าสุดนี้อาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าธุรกิจในอนาคตของ SINGER จะเน้นไปหาสินค้า IT จาก J-Mobile ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่สินค้าจะกระจุกตัว และความเสี่ยงด้านการตั้งสำรองเพราะการปล่อยกู้เพื่อซื้อสินค้า IT มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูง

การแก้ NPL ทำให้เกิดความกังวลกับค่าใช้จ่ายสำรองฯ และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ NPL ที่แท้จริงของ SINGER พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในไตรมาส 4/65 โดย NPL ratio อยู่ที่ประมาณ 11-12% (หากนับรวม NPA ที่บันทึกเป็นสินค้าคงคลังด้วย) ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีการจัดชั้นลูกค้าที่อ่อนไหวบางรายเป็นสินเชื่อที่ปกติ (performing loan) อยู่ในไตรมาส 4/65 แต่เราคิดว่าลูกค้าเหล่านี้อาจจะกลายมาเป็น NPL ในไตรมาส 1/66 และกระทบค่าใช้จ่ายสำรองฯ และค่าใช่จ่ายการด้อยค่าของสินทรัพย์ก้อนใหญ่ ดังนั้น เราจึงปรับเพิ่มสมมติฐานค่าใช้จ่ายสำรองฯในไตรมาส 1/66 เป็น 8% (จาก 5.6% ในไตรมาส 4/65) และในปี 66 เป็น 6% (จาก 2.5% ในปี 65)

การปรับลดประมาณการกำไรสะท้อนถึง 1. ค่าใช้จ่ายสำรองฯ (credit cost) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 6% และ 4% ในปี 66-67 (จากเดิมที่ 3%, 2.5%) 2.การปรับลดอัตราการเติบโตของยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็น -20%/+10% (จากเดิมที่ -5%, +10%) 3. การปรับลดอัตราการเติบโตขอสินเชื่อเป็น -6%, +5% (จากเดิมที่ -5%, +10%)

ทั้งนี้ เนื่องจากมี NPL เกิดใหม่จำนวนมาก และมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร จึงคิดว่า SINGER น่าจะต้องใช้เวลาสักระยะในการล้างงบดุล และฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ใช้ P/E ที่ 15 เท่า อิงประมาณการกำไรเฉลี่ย 2 ปี ทำให้ได้ราคาเป้าหมายที่ 11.60 บาท (ลดลงจาก 24 บาท) ดังนั้น เราจึงปรับลดคำแนะนำจาก “ถือ” เป็น “ขาย”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 66)

Tags: , , , , ,