น.ส.ยุกานดา วิทยานันท์ นักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/64 คาดเห็นรายได้ชัดเจนจากยอดการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับอุตสาหกรรม (iCNG) จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และวอลุ่มที่ทยอยกลับมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.พ.-มี.ค. อยู่ที่ 3,500-4,000 MMBTU/วัน
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตโครงการ Solar Rooftop ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อย บริษัท สแกน แอดวานซ์ พาวเวอร์ จำกัด (SAP) เป็น 47 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ ขณะที่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เนื่องจากมีการปรับตัวตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ทั้งการปรับนโยบายการดำเนินงาน และการวางแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
แผนการดำเนินงานในปี 64 บริษัทยังคงดำเนินกลยุทธ์ 3+1 คือ ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 30%, ธุรกิจพลังงาน 30%, ธุรกิจรถสาธารณะ 30% และธุรกิจอื่นๆ อีก 10% ในส่วนของธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ บริษัทวางแผนหาลูกค้าใหม่ๆ ที่มีความสนใจในพลังงานสะอาดที่ช่วยลดมลภาวะ PM2.5 รวมถึงมีแผนการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (iLNG) ที่ปัจจุบันมีการเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี นอกจากนี้คาดว่าจะเห็นการเติบโตจากการที่ผู้บริโภคหันมาใช้ก๊าซ iCNG ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มผลประกอบการของสถานีน้ำมัน และสถานีบริการก๊าซกลับมาดีขึ้นด้วย
ส่วนธุรกิจพลังงาน ด้านธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูขนาด 220 เมกะวัตต์ในประเทศเมียนมา ใช้งบลงทุนทั้งหมด 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วในเฟส 1 ขนาด 50 เมกะวัตต์ และเร่งเดินหน้า COD ในเฟส 2 ขนาด 50 เมกะวัตต์ ให้เสร็จภายในปีนี้ เพื่อช่วยเพิ่มผลประกอบการให้บริษัทมากขึ้น รวมถึงจะดำเนินงานในเฟส 3-4 ให้เสร็จภายในไตรมาส 2/65 โดยมีขนาด 50 เมกะวัตต์ และขนาด 70 เมกะวัตต์ตามลำดับ
ด้านธุรกิจ Solar Rooftop (SAP) บริษัทวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 64 ตั้งเป้ากำลังผลิตอยู่ที่ 30 เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตสะสม 47 เมกะวัตต์, ปี 65 ตั้งเป้ากำลังการผลิตอยู่ที่ 30 เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตสะสม 77 เมกะวัตต์, ปี 66 ตั้งเป้ากำลังผลิตอยู่ที่ 30 เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตสะสม 107 เมกะวัตต์ และในปี 67 จะมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 110 เมกะวัตต์ และมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท
ธุรกิจรถสาธารณะ บริษัทได้ทำสัญญาซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน โดยบริษัทมีสัญญาเป็นระยะเวลารวม 10 ปี ในช่วง 5 ปีแรก บริษัทจะได้รับค่าซ่อมบำรุง 865 บาท/คัน/วัน และในช่วง 5 ปีหลังรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าอยู่ที่ 1,617 บาท/คัน/วัน โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ของปี 64-65 อยู่ที่ 154 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้หากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ก็มองโอกาสในการทำธุรกิจในส่วนนี้เพิ่มด้วย
ทั้งนี้ในส่วนของธุรกิจอื่นๆ ด้านธุรกิจขนส่ง ทางบริษัทวางแผนจะเพิ่มการบริการให้มีความหลากหลายมากขึ้น ส่วนด้านบริษัทย่อย สแกน ไอซีที จำกัด (SCAN ICT) จะมีการพัฒนาระบบ, อุปกรณ์, โทรคมนาคม, อินเทอร์เน็ต และโทรทัศน์ โดยมีโครงการในมือ (Backlog) อยู่ที่ 100 ล้านบาท และมีโครงการที่อยู่ระหว่างประมูล มูลค่า 400 ล้านบาท และโครงการที่คาดว่าจะเข้ามาอีก 100 ล้านบาท ส่งผลทำให้ในปี 64 จะมี Backlog รวมราว 600 ล้านบาท และคาดในปี 68 จะมีโครงการในมือแตะที่ 1,000 ล้านบาท
น.ส.ยุกานดา กล่าวว่า ด้านธุรกิจ Scan MediHerb กัญชงและกัญชา จะเป็นการดำเนินงานจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเน้นที่กลางน้ำถึงปลายน้ำเป็นหลัก ในการสกัด และออกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกัญชง ทั้งผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้มองว่าธุรกิจนี้จะสามารถส่งเสริมให้ภาพรวมผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นในอนาคต
สำหรับความคืบหน้าการนำ บมจ.พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) (GEP) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลพร้อมยื่นไฟลิ่ง รวมถึงการจัดโครงสร้างบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีการจ้างนักกฎหมาย นักโฆษณา และบริษัทตรวจสอบบัญชีภายในเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชน (IPO) ได้ภายในปี 65
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 64)
Tags: GEP, SCN, Solar Rooftop, ก๊าซธรรมชาติ, น้ำมัน, ผลประกอบการ, พลังงานสะอาด, พลังงานเพื่อโลกสีเขียว, ยุกานดา วิทยานันท์, สแกน อินเตอร์, สแกน แอดวานซ์ พาวเวอร์, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์