บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เดินหน้าขยายการลงทุนในปี 66 โดยตั้งงบลงทุน (CAPEX) ประมาณ 18,000 ล้านบาท ยังคงมุ่งเน้นการควบรวมกิจการ (Merger and Partnership: M&P) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง
บริษัทมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 66 การบริโภคในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอาเซียน อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค และส่งผลบวกต่อความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการบริโภคในเทศกาลช่วงปลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง
อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของอาเซียนยังเผชิญกับความท้าทายโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศปลายทางในแถบยุโรปท่ามกลางนโยบายการเงินที่เข้มงวด ภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ซบเซา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าไม่จำเป็น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้ายานยนต์ เป็นต้น
สำหรับปัจจัยทางด้านต้นทุนคาดการณ์ว่าราคาพลังงานทั่วโลกจะยังมีโอกาสลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ในขณะเดียวกันต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มอยู่ในระดับทรงตัว
ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผันผวน SCGP ยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรโดยการเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน (Chain Integration) และการประสานความร่วมมือของทุกธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ (Synergies) ผ่านการขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่องกัน (Cross-Selling) การรวมซื้อวัตถุดิบแบบรวมศูนย์ (Pool-Sourcing) และการวางแผนการผลิตสินค้า (Product Rationalization) ควบคู่ไปกับการบริหารกระแสเงินสด และงบประมาณการลงทุน (CAPEX) ด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ
นอกจากนี้ SCGP ได้มีการทุ่มเทอย่างต่อเนื่องในการต่อยอดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมโซลูชันบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค พร้อมทั้งยึดหลัก ESG เป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจโดยบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำและสร้างความเป็นเลิศด้าน ESG ในการดำเนินงานของทั้งห่วงโซ่อุปทานซึ่งรวมถึงความพยายามในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินงานอย่างยั่งยืนอีกด้วย
สำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรก SCGP มีรายได้จากการขายรวม 65,945 ล้านบาท ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน รายได้จากการขายที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุหลักจากปริมาณและราคาขายของกระดาษบรรจุภัณฑ์ลดลง ในช่วงที่อุปสงค์ของบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนและตลาดส่งออกยังชะลอตัว ขณะที่รายได้จากการขายที่ลดลงจากช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน มาจากราคาขายของกระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อที่ลดลง
EBITDA เท่ากับ 9,152 ล้านบาท ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน และมี EBITDA Margin อยู่ที่ 14% กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 2,705 ล้านบาท ลดลง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 4% กำไรสำหรับงวดที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุหลักจากราคาขายที่ลดลง โดยเฉพาะกระดาษบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับรายได้จากการขาย
กำไรสำหรับงวดที่เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน มาจากต้นทุนหลัก เช่น วัตถุดิบ ค่าขนส่ง และพลังงานปรับตัวลดลง ทั้งนี้ SCGP ได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการจัดการเงินทุนหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนงวดไตรมาส 2/66 รายได้จากการขายเท่ากับ 32,216 ล้านบาท ลดลง 15% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลง 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 1,485 ล้านบาท ลดลง 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 5%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 66)
Tags: SCGP, เอสซีจี แพคเกจจิ้ง