ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ระบุว่า จากการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค. 65 ที่ขยายตัว 19.5% ที่มูลค่า 28,859 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่ามีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 30 ปีนั้น หากหักสินค้าทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนภาวะการค้าที่แท้จริง) มูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 9.5% ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) และดัชนีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (Export Orders) ที่ปรับลดลงต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน และ 20 เดือน ตามลำดับ สะท้อนทิศทางการชะลอตัวในภาคการผลิตและการค้าโลกในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ การส่งออกไทยในเดือนมี.ค. 65 มีสินค้าส่งออกที่เป็นตัวหนุนสำคัญนอกเหนือจากทองคำ เช่น คอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ น้ำตาลทราย เป็นต้น มีตลาดสำคัญที่ขยายตัวได้ดีคือ อาเซียน-5 อินเดีย และตะวันออกกลาง
การส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ รวมถึงปัญหาชะงักงันของอุปทานโลกจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยส่งออกไทยไปรัสเซียในเดือนมี.ค. หดตัวถึง 73% และส่งออกไปยูเครน หดตัวถึง 77.8% ซึ่งตลาดรัสเซียและยูเครนยังนับว่าเป็นตลาดส่งออกขนาดเล็กของไทย คิดเป็นเพียง 0.43% ของการส่งออกทั้งหมด (ข้อมูลปี 2564) ทำให้ผลกระทบต่อการค้าไทยยังคงค่อนข้างจำกัด ในขณะที่การส่งออกไปยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยที่มีสัดส่วนมูลค่าคิดเป็น 9.3% ยังขยายตัวได้ดีแม้จะชะลอตัวลงที่ 8%
นอกจากนี้ การใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของจีน ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกไทยจะยังจำกัด แต่ EIC คาดว่าการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นในระยะถัดไป หากจีนยังคงดำเนินมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดต่อไป รวมทั้งผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
EIC ได้ปรับประมาณการส่งออกของไทยในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 6.1% จากเดิม 3.4% (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน) แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุน โดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นหลัก และมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ อย่างไรก็ดี ถึงแม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบของภาวะสงคราม ทำให้ปริมาณส่งออกไทยอาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในระยะข้างหน้า แต่ราคาสินค้าส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามราคาสินค้าและโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกโภคภัณฑ์ที่สำคัญหลายชนิด
นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนรายได้ของผู้ส่งออกไทย และอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งนับตั้งแต่เกิดสงคราม พบว่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค
“EIC คาดเงินบาทในระยะสั้น จะเผชิญแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย” บทวิเคราะห์ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 65)
Tags: SCBEIC, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย