SCB EIC หั่น GDP ปี 67 เหลือ 3% โตต่ำ-ฟื้นช้า ระยะยาวน่าห่วง ปัญหาเชิงโครงสร้างสะสม-แผลเป็นโควิด

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัว 3% ซึ่งปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า และขยายตัวต่ำกว่าคาด ปัจจัยกดดันมาจากการบริโภคภาคเอกชนเติบโตชะลอลงหลังจากที่ขยายตัวในระดับสูงในปี 66 อีกทั้งการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวต่ำจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 67

เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะมียังปัจจัยสนับสนุนมาจากการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ ตามแนวโน้มการค้าโลกที่ขยายตัวสูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะฟื้นตัวดีตามการส่งออกและแนวโน้มการขอรับการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวยังเข้ามาช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยได้ต่อเนื่อง คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 38.2 ล้านคน จากปี 66 อยู่ที่ราว 28 ล้านคน

ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะตรึงไว้ที่ 2.5% ตลอดทั้งปี 67 เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับศักยภาพในระยะยาว (Neutral rate) ซึ่งยังช่วยเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายได้และช่วยสร้างความสมดุลในระบบการเงินจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงกลับเป็นบวกได้ ลดแรงจูงใจในการก่อหนี้ใหม่ของภาคครัวเรือนและลดการประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป (Underpricing of risks) จากภาวะดอกเบี้ยต่ำนาน

ทั้งนี้ SCB EIC มองว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะเร่งตัวขึ้นบ้างในปี 67 จากแรงกดดันด้านอุปทาน ทำให้เกิดการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

ส่วนโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่อาจกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าระดับศักยภาพ และอาจสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ได้อีกทาง แต่มองว่าจะเป็นเพียงผลชั่วคราว โดยเศรษฐกิจไทยอาจจะแค่กลับมาขยายตัวในระดับศักยภาพได้ดังเดิม โครงการนี้จึงส่งผลต่อเงินเฟ้อต่ำ ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%

สำหรับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมองว่าสิ้นสุดลงแล้ว โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรปจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วขึ้นเป็นไตรมาส 2/67 จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าคาด ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านการยกเลิกมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวในช่วงครึ่งแรกของปี และยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในช่วงครึ่งหลังของปี 67

EIC คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 67 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเป็น 2.5% จาก 2.7% ในปี 66 จากผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงเงินออมส่วนเกินที่ใกล้หมดลง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอลงทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางจากปัจจัยเชิงโครงสร้างกดดัน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่จะขยายตัวต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดจากปัจจัยกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB EIC ประเมินว่า ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง เพราะจะเติบโตต่ำบนศักยภาพที่ลดลง อันเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ทั้งการลงทุนต่ำ ผลิตภาพการผลิตลดลง และแผลเป็นจากวิกฤตโควิด ซึ่งชัดเจนว่าไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิดได้ช้าติดอันดับรั้งท้ายในโลก อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางและอ่อนแอจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กที่ยังมีหนี้สูง แต่รายได้เติบโตช้า

“เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยภายในประเทศที่ยังต้องจับตานโยบายรัฐบาลที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ทรัพยากรภาครัฐมีจำกัดในการใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการลงทุนเพิ่มศักยภาพประเทศในระยะยาว” นายสมประวิณ กล่าว

SCB EIC เสนอแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยด้วยชุดนโยบาย “4 สร้าง” ได้แก่

1. สร้างภูมิคุ้มกันให้ครัวเรือน ผ่านการสร้างกลไก Social assistance และ Social insurance ที่ครอบคลุมและเพียงพอ

2. สร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ผ่านการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศ และผลักดันไทยให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะช่วยเร่งให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ได้

3. สร้างกลยุทธ์การลงทุนของประเทศให้เหมาะสมกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนไป

และ 4. สร้างความยั่งยืนของภาคการผลิตไทย ผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญเอื้อให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , ,