นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า SCB EIC ได้ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 68 เหลือเติบโต 2.5% จากเดิม 2.8% จากนโยบาย Trump 2.0 ซึ่งจะเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการกีดกันการค้าให้รุนแรงขึ้น กระทบเศรษฐกิจโลกผ่านการค้า การลงทุน และแรงงานเป็นหลัก โดยหลายประเทศหลักได้เตรียมชุดมาตรการลดผลกระทบเชิงลบจากนโยบาย “Trump 2.”0 ไว้บ้างแล้ว แต่ปัญหาการเมืองในบางประเทศ อาจเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้แนวทางการรับมือของภาครัฐขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเยอรมนี ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบสุทธิของชุดนโยบาย “Trump 2.0” ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นลบ แต่จะไม่แรงมาก เพราะหลายนโยบายจะช่วยเร่งการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การลดภาษีเงินได้ การลดกฎเกณฑ์ภาครัฐให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ (Deregulation) และทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินโลก จะเริ่มแตกต่างกันและมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ เพื่อรองรับความเสี่ยงเงินเฟ้อในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นจาก Trump 2.0 โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้า และการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ
อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อโลกอาจไม่เร่งตัวขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกแย่ลง อีกทั้งราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มต่ำลงตามอุปสงค์โลก และการเพิ่มกำลังการผลิตในสหรัฐฯ จากนโยบายสนับสนุนของ Trump ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยมากกว่าคาดการณ์เดิม เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่จะชะลอลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัย Trump 2.0 กดดันเพิ่มเติม แต่สำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่น มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดการณ์เดิม ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันเงินเยนอ่อนค่ามากจาก Trump 2.0
- หั่น GDP ไทย ปี 68 เหลือโต 2.4% จากผลกระทบ Trump 2.0
สำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปี 67 มีแนวโน้มขยายตัวดี แต่ปี 68 จะเจอแรงกดดันจาก Trump 2.0 โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 อาจขยายตัวได้ถึง 4% ตามแรงส่งการส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐที่โตต่อเนื่องจากไตรมาส 3/67 รวมถึงการท่องเที่ยว จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัวได้ 2.7%
ส่วนปี 68 SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 68 ลงเหลือเติบโต 2.4% จากเดิม 2.6% เนื่องจากประเมินว่าจะเริ่มได้รับผลกระทบมาตรการกีดกันการค้าของ Trump 2.0 ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง เพราะไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งกว่า 70% ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐ เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐจะตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้า และต้องการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศแทน ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ปัญหา China’s overcapacity จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย ทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว ท่ามกลางแรงกระตุ้นการคลังที่จะออกมาเพิ่มเติมในปีหน้า
ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่ฟื้นไม่แรงมากนักจากความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาด และอุปสงค์ในประเทศซบเซา สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2024 ผู้บริโภคกว่า 60% มองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าแย่ลง โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้ต่ำ สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ และมีแนวโน้มปรับลดการใช้จ่ายลง เพราะไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต โดยเฉพาะความต้องการซื้อบ้านและรถในปีหน้า โดยมองว่าอุปสรรคสำคัญ คือ การขออนุมัติสินเชื่อ ปัจจัยราคา รายได้ และภาระชำระหนี้
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า คุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบ มีแนวโน้มจะปรับแย่ลง ท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินที่จะยังเข้มงวดต่อเนื่อง จากข้อมูลเครดิตบูโร (NCB) สะท้อนว่าคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบ มีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงน่าจะคลี่คลายได้ช้า ส่งผลกดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า สำหรับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนล่าสุด เน้นช่วยลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น และยังมีโอกาสคืนหนี้ได้ สำหรับผลสำเร็จของมาตรการฯ ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้ลูกหนี้เป็นหลัก
- ลุ้น กนง.นัดแรกปี 68 ลดดอกเบี้ยเหลือ 2% ก่อนตรึงยาวถึงสิ้นปี
SCB EIC ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง 0.25% ในเดือนก.พ. 68 ไปอยู่ที่ 2%และคงไปตลอดช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่ได้มีปัจจัยกดดันชัดเจนที่ทำให้ กนง. ต้องเร่งปรับลดดอกเบี้ย แต่ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากความเปราะบางภายใน และความท้าทายภายนอก นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และลดผลกระทบภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง
สำหรับเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีกไม่มาก อยู่ในกรอบราว 34.00-35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ยังต้องจับตาความผันผวนของเงินสกุลอื่นที่อาจกระทบเงินบาทได้ และในปี 68 คาดว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังไหลออกต่อเนื่อง กดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อในช่วงครึ่งแรกของปี แต่เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ช่วงครึ่งปีหลัง ตามทิศทางการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลง ราคาทองคำที่อาจสูงขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับ มองกรอบปลายปีที่ 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นโยบาย Trump 2.0 การแข่งขันรุนแรงจากต่างประเทศ แรงกดดันจาก Mega trends รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตของไทยเอง แต่ขนาดผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ เช่น ธุรกิจยานยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความเปราะบางของครัวเรือน ซ้ำเติมด้วยแรงกดดันเปลี่ยนผ่านสู่รถ EV ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการปรับตัว ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย แม้ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อชะลอตัว แต่ผู้ประกอบการบางส่วน สามารถปรับตัวเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพทดแทนได้
- เศรษฐกิจไทย “บนโลกสองใบ” ความแตกต่างใน 3 มิติ
SCB EIC มองว่า ความท้าทายภายนอก และความอ่อนแอภายในของประเทศไทยที่เห็นนี้ กำลังสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงในระยะสั้น และมีปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว ขณะที่แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงในโครงสร้างทางสังคมได้อย่างเสรี ข้อจำกัดเหล่านี้ นำพาให้เศรษฐกิจไทยอยู่บนโลก “สองใบ” ที่แตกต่างกันใน 3 มิติ คือ
1. มิติ : อ่อน-แข็ง โลกสองใบของครัวเรือนฐานะการเงินอ่อนแอ กับครัวเรือนฐานะการเงินเข้มแข็ง สะท้อนครัวเรือนไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่งคั่งรุนแรงมาก โดยครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอ มีรายได้ไม่พอรายจ่าย และมีรายได้เข้ามาไม่สม่ำเสมอ เมื่อครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอ เผชิญสถานการณ์ที่ทำให้ขาดรายได้ โลกของครัวเรือนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากกว่า และฟื้นตัวช้ากว่าครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง
2. มิติ : เก่า-ใหม่ โลกสองใบของภาคการผลิตโลกเก่ากับโลกใหม่ ภาคการผลิตโลกเก่าไม่ได้เติบโตไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี หรือจะเผชิญความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ขณะที่ภาคการผลิตโลกใหม่ มีโอกาสเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ และได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงน้อยกว่า
3. มิติ : ใหญ่-เล็ก โลกสองใบของธุรกิจใหญ่กับธุรกิจเล็ก กำไรของธุรกิจขนาดเล็กมีความผันผวนมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ผ่านมารายได้ธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงโควิด-19 ไม่ได้ลดลงเลย และสามารถเติบโตได้เกือบ 10% หลังจากวิกฤตสิ้นสุดลง ในทางตรงข้ามรายได้ของธุรกิจขนาดเล็กหดตัวราว 2-3% ในช่วงโควิด-19 และยังไม่ฟื้นตัว
โดยแนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงควรมุ่งลดระยะห่างระหว่างโลกสองใบ ผ่านเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
1. คนไทยควรมีภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์เลวร้าย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงให้คนในโลกที่รายได้น้อยกว่า ออกไปคว้าโอกาสในการเติบโต ผ่านการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนรายได้น้อย โดยผู้ดำเนินนโยบายมีบทบาทเป็นกลไกเสริมผ่านการช่วยเหลือทางสังคมและประกันทางสังคม ควบคู่ไปกับการออกแบบกติกาในภาคการเงิน เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาตลาดประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และธุรกิจขนาดเล็ก
2. คนไทยควรเติบโตจากการพัฒนาและปรับตัวทันกับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนไป โดยในการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว และพัฒนาให้ทันภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินนโยบายจะเป็นกลไกเสริม ผ่านการหาโอกาสทางธุรกิจ ผ่านการเจรจาทางการค้าและการลงทุนกลับมาให้ธุรกิจภายในประเทศ
3. คนไทยควรมีโอกาสสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเติบโตไปพร้อมกัน ผู้ดำเนินนโยบายจะมีบทบาทในฐานะผู้ออกแบบกติกาของการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และการแข่งขัน เพื่อสร้างโอกาสให้คนจากโลกที่รายได้ต่ำกว่าเข้าถึงทรัพยากร สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างทั่วถึง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ธ.ค. 67)
Tags: SCB EIC, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, สมประวิณ มันประเสริฐ, โดนัลด์ ทรัมป์