นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ระดับ 2.4% โดยต้องจับตาประเด็นสำคัญที่เข้ามาเพิ่มเติมคือ ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ และการที่สหรัฐฯ จะประกาศนโยบายปรับขึ้นภาษีในวันที่ 2 เม.ย.นี้
โดยมองว่าเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท ใน 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ 1.ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการยกเลิกการจองห้องพักและตั๋วเครื่องบิน ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นผลกระทบได้ชัดเจนที่สุดในเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นจะค่อยคลี่คลายและกลับเข้สู่ภาวะปกติได้ในราว 3-4 เดือนถัดไป
“ในกรณี base case เรามองว่าเหตุแผ่นดินไหว อาจทำให้ยอดนักท่องเที่ยวหายไปราว 4 แสนคน ซึ่งจะเห็นชัดสุดในเดือนเม.ย.นี้…สถานการณ์จะดีหรือแย่ไปกว่านี้ ต้องขึ้นกับมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นของภาครัฐที่จะออกมา” นายยรรยง ระบุ
2.ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดฯ ที่จะทำให้ยอดจองและยอดโอนชะลอออกไปก่อน คาดว่ามูลค่าการโอนอสังหาฯ ในกทม. จากที่โตเล็กน้อย อาจจะติดลบราว 1% ในปีนี้
3.การใช้จ่ายและการบริโภคกลุ่มสินค้าคงทน เช่น รถยนต์
นายยรรยง มองว่า เครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยว จากที่คาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยอยู่ที่ราว 38.2 ล้านคน แต่เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวล่าสุดอาจทำให้ต้องทบทวนตัวเลขใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้ มาตรการของภาครัฐที่เข้ามาช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต ก็อาจจะเป็นอีกแรงที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
สำหรับผลกระทบของเศรษฐกิจไทย จากนโยบายปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐนั้น นายยรรยง มองว่า ในระยะสั้นอาจทำให้เกิดความผันผวนต่อทั้งตลาดเงินและตลาดทุน แต่ระยะต่อไปเชื่อว่าภาครัฐจะมีการเจรจาต่อรองกับสหรัฐเพื่อให้มาตรการที่สหรัฐจะนำออกมาใช้ในระยะต่อไปนั้นมีผลกระทบต่อไทยให้น้อยที่สุด
อย่างไรก็ดี เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลกระทบต่อ GDP ของไทยราว 1% ในกรณีที่สินค้าไทยถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 10% เนื่องจากไทยส่งออกไปสหรัฐในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับภาคส่งออกมีน้ำหนักต่อ GDP ค่อนข้างมาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 68)
Tags: ยรรยง ไทยเจริญ, อสังหาริมทรัพย์, แผ่นดินไหว