ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทย ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 66 เนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3/66 และทำให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่างๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ อีกทั้งยังมีการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ และนำเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาก่อนการยุบสภา และทำให้เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4/66 จากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก อีกทั้งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 67
SCB EIC คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 67 จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้อย่างราบรื่น จะส่งผลให้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจปี 67 ได้อย่างเต็มที่ โดยคาดว่าในกรณีฐานหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 66 ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเดือนก.ค. 66 และจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในเดือนส.ค. 66
โดยผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจของการเลือกตั้งจะชัดเจนขึ้นในปี 67 หากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทุกพรรค ได้มีการนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากมาใช้ในการหาเสียง อีกทั้งมีนโยบายจำนวนมากที่เป็นนโยบายเร่งด่วนที่พรรคการเมืองให้คำสัญญาว่าจะดำเนินการภายใน 3-4 เดือนหลังจากที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายลดค่าครองชีพของประชาชน (เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า) และนโยบายให้เงินประชาชนโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในทางตรงกันข้าม หากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่น อาจส่งผลให้รัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเต็มต้องปฏิบัติหน้าที่นานเกินสมควร อีกทั้งการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จะล่าช้ามาก จนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจได้ด้วยเช่นกัน
- 5 ฉากทัศน์จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ความเป็นไปได้ และผลต่อเศรษฐกิจ
ด้านฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากพิจารณาผลสำรวจแนวโน้มการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในปี 66 ของหลายหน่วยงาน พบว่าฝ่ายเสรีนิยม มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมสูงกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาก โดยฝ่ายเสรีนิยม 2 พรรค ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับความนิยมรวมกันมากถึง 68-84% ของผู้ตอบสำรวจทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจมีแนวโน้มที่จะสะท้อนจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ได้แม่นยำกว่า ส.ส.รายเขต ส่งผลให้ผลสำรวจสะท้อนว่าพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงรายพื้นที่ มีแนวโน้มที่จะได้รับเลือกตั้งในสัดส่วนที่สูงกว่า ภายใต้สมมติฐานดังกล่าวนี้ SCB EIC ได้ประเมินฉากทัศน์ของผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไว้ 5 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 : ฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากของ ส.ส. (สูงกว่า 250 เสียง) และอาจรวมตัวกับพรรคการเมืองที่ไม่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนไว้ แต่ยินดีจะเข้าร่วมด้วย ประกอบกับอาจได้รับเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วน ทำให้มีคะแนนเสียงรวมกันเกิน 375 เสียง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะช่วยให้การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ล่าช้าไม่มาก 3-4 เดือน แต่กรณีนี้มีโอกาสเกิดชุมนุมทางการเมืองขนาดเล็ก ในภาพรวม กรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลางและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย
กรณีที่ 2 : รัฐบาลผสมสองฝ่าย ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจาก ส.ส. (เกิน 250 เสียง) แต่ยังไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ (ต่ำกว่า 375 เสียง) ฝ่ายเสรีนิยมบางส่วนจึงร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางส่วน ตกลงจัดสรรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้อย่างลงตัว ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมสองฝ่ายได้
ในกรณีนี้ แม้รัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุนจากทั้งฝั่ง ส.ส. และ ส.ว. แต่อาจไม่มีความแข็งแกร่งในการบริหารราชการแผ่นดินมากนัก เนื่องจากทั้งสองพรรคมีแนวความคิดที่แตกต่างกันหลายด้าน การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 อาจล่าช้าไม่นาน 3-4 เดือน แต่กรณีนี้มีโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่สูงกว่ากรณีอื่น เนื่องจากอาจขัดกับหลักการที่พรรคการเมืองสื่อสารหาเสียงไว้ หรือขัดกับหลักการที่ประชาชนกลุ่มฐานเสียงแต่ละฝ่ายต่างยึดมั่น ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลาง แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ขึ้นกับความรวดเร็วในการจัดตั้งรัฐบาลและการตอบรับของประชาชน
กรณีที่ 3 : รัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจาก ส.ส. (สูงกว่า 250 เสียง) ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพรรคการเมืองที่ไม่ได้แสดงจุดยืนชัดเจนไว้ แต่ยินดีจะเข้าร่วมด้วย รวมตัวกันได้เสียงจาก ส.ส.ไม่ถึง 250 เสียง แต่เมื่อรวมกับเสียงจาก ส.ว.จำนวนมาก ส่งผลให้มีคะแนนเสียงรวมเกิน 375 เสียง ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ในกรณีนี้รัฐบาลจะมีความเปราะบางสูง และมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ลบหลายเรื่อง เช่น การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ล่าช้าเกิน 3-4 เดือน หรือไม่สามารถออกใช้ได้ ความเสี่ยงต้องจัดการเลือกตั้งใหม่สูง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีความเสี่ยงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกทั้งกรณีนี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ อาจประวิงเวลาให้ ส.ส.ฝ่ายอื่นเข้าร่วมกับฝ่ายตน จนฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีรัฐบาลรักษาการนานเกินควร นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลาง และจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยสูงที่สุด
กรณีที่ 4 : ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้เสียงข้างมากจากทั้ง ส.ส. (สูงกว่า 250 เสียง) และ ส.ว. (รวมมีคะแนนเสียงเกิน 375 เสียง) จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีความแข็งแกร่ง ในการบริหารราชการแผ่นดินสูงจากเสียงสนับสนุนจากทั้งฝั่ง ส.ส. และส.ว. ทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ล่าช้าเพียง 3-4 เดือน แต่มีโอกาสเกิดการชุมนุม ทางการเมืองขนาดเล็ก ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดน้อย และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย
กรณีที่ 5 : นายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อ ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจาก ส.ส. (เกิน 250 เสียง) แต่ยังไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ (ต่ำกว่า 375 เสียง) ฝ่ายเสรีนิยมบางส่วนจึงร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางส่วน ซึ่งคล้ายกับกรณีที่ 4 แต่ไม่สามารถตกลงจัดสรรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้อย่างลงตัว ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ รัฐบาลรักษาการจึงต้องบริหารราชการแผ่นดินเป็นเวลานานเกินควร และจำเป็นต้องเลือกบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ส่งผลให้รัฐบาลใหม่มีความเปราะบางสูง และการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 อาจล่าช้าเกิน 3-4 เดือนไปมาก ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดน้อย และจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย
SCB EIC ระบุว่า นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยุบสภา การเลือกตั้ง และการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลตามที่วิเคราะห์ข้างต้นแล้ว นโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้นำเสนอไว้ก่อนการเลือกตั้ง นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาระการคลัง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นนโยบายมหภาคที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดย SCB EIC จะเผยแพร่บทวิเคราะห์ตอนต่อไปหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 66)
Tags: SCB, SCB EIC, การเลือกตั้ง, ธนาคารไทยพาณิชย์, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ, เบิกจ่ายงบประมาณ