SCB EIC คาด กนง.คงดอกเบี้ย 2.5% ตลอดปี หาก GDP-เงินเฟ้อไม่แผ่วมาก

ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 67 มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อปี โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากภาคการส่งออก และภาคการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้าง กระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว มากกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ไว้ตลอดปี 2567 โดยมองว่า กนง. จะพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไปข้างหน้าในระยะปานกลางถึงระยะยาว (Forward looking) มากกว่าตัวเลขที่เกิดขึ้นแล้ว (Backward looking) หากแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของไทยในระยะต่อไป ยังเป็นไปตามที่ SCB EIC เคยคาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่อเนื่องใกล้เคียงระดับศักยภาพที่ 3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะทยอยปรับสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ กนง. จะยังมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว (Neutral rate) ตามที่ กนง. สื่อสารไว้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการดูแล SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ที่ภาระหนี้สูงและรายได้ฟื้นตัวช้า กนง. ยังมีแนวโน้มสนับสนุนการใช้มาตรการเฉพาะจุด และแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน มากกว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นมาตรการแบบครอบคลุม และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี หากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป เติบโตชะลอลงกว่าประมาณการที่ กนง. ประเมินไว้ตามผลประชุมครั้งนี้อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบต่อเนื่อง และกระจายไปในสินค้าและบริการเป็นวงกว้างมากขึ้น กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชัดเจนขึ้น อาจส่งผลให้ กนง. ต้องเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อให้นโยบายการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่อาจไม่เป็นไปตามคาดได้

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจของ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2567 โดยแรงส่งหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น และมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชน นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ สอดคล้องกับการผลิตบางอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัว เช่น อิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป มาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 ที่ล่าช้า ซึ่งจะกดดันการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรก ตลอดจนความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ในตะวันออกกลางที่อาจกระทบการขนส่งทางทะเล และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักขึ้นได้อีก เป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าของไทย

สำหรับเงินเฟ้อไทย แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 แต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน โดย SCB EIC ประเมินว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากเงินเฟ้อติดลบยังไม่กระจายตัวรายสินค้าเป็นวงกว้าง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวก มองไปข้างหน้า เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นหลัก กดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง และรายได้กลุ่มเปราะบางที่ยังฟื้นตัวช้า

ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากผลของนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่อง และตลาดแรงงานอ่อนแอลง อีกทั้งยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนรอบด้าน โดยในปีนี้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในกว่า 60 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมสูงกว่า 60% ของโลก นอกจากนี้ การค้าและห่วงโซ่อุปทานโลก อาจเผชิญความเสี่ยงใหม่จากการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในบริเวณทะเลแดง และปัญหาน้ำแล้งในคลองปานามา ก่อให้เกิดความแออัดในการขนส่งทางเรือ หรือต้องปรับเส้นทางเดินเรือ ส่งผลให้ระยะเวลาการขนส่งสินค้า และต้นทุนค่าขนส่งปรับสูงขึ้น

สำหรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 2 จากเงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอลงต่อเนื่อง เข้าใกล้กรอบเป้าหมายที่ 2% มากขึ้น ส่งผลให้นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายขึ้นได้ สำหรับจีนยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราส่วนการสำรองของธนาคารพาณิชย์ขั้นต่ำ (Required Reserve Ratio) ขณะที่ญี่ปุ่น มีแนวโน้มยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative interest rate) ในปีนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 67)

Tags: , , , , , ,