ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ระดับ 2.5% ไปตลอดปี 67 โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ Neutral rate หรือระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% ได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทยกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับในช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งจะช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ผ่านการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน
SCB EIC ประเมินทิศทางการสื่อสาร หรือการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตรงกับที่ SCB EIC คาดไว้ โดย กนง. ระบุว่าเศรษฐกิจไทยกำลังทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับ Neutral zone ที่เหมาะสมกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย
ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบัน มีส่วนช่วยให้การก่อหนี้ใหม่เป็นไปอย่างสมดุลมากขึ้น เทียบกับช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากมานาน โดยหากเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าเป็นไปตามที่ กนง. คาดการณ์ไว้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันต่อเนื่อง
ในปี 67 แม้โครงการ Digital wallet อาจช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงกว่าระดับศักยภาพ และก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ SCB EIC ประเมินว่าผลจากมาตรการดังกล่าว จะเป็นเพียงผลชั่วคราว โดยเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในระดับศักยภาพดังเดิมในภายหลัง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท. ได้
สำหรับมุมมองเศรษฐกิจของ SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าอยู่ที่ 2.6% ในปี 66 และ 3.0% ในปี 67 โดยปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 66 ลงเหลือ 2.6% (จากประมาณการเดิม 3.1%) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวสูงขึ้น จากการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 66 ต่ำกว่าที่ประเมินไว้และความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปีงบประมาณ 67 รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์
ส่วนในปี 67 SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงเช่นกัน มาอยู่ที่ 3.0% (จากประมาณการเดิม 3.5%) ตามแรงส่งเศรษฐกิจที่แผ่วลง แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่ำลง จากรายได้ครัวเรือนที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และหนี้ครัวเรือนที่ลดลงช้า การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนใช้เวลานานขึ้น รวมถึงการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง จากความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปีงบประมาณ 67
ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปี 66 คาดว่าจะขยายตัว 2.7% ชะลอลงจาก 3% ในปีก่อน และมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเป็น 2.5% โดยจะต้องเผชิญปัจจัยกดดันหลายด้าน อาทิ ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และสภาพคล่องโลกที่เริ่มตึงตัวขึ้น
อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานทั่วโลกที่มีความยืดหยุ่นสูง การค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น และห่วงโซ่อุปทานโลกที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 67
สำหรับมุมมองนโยบายการเงินโลก SCB EIC ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันไปจนถึงกลางปี 67 ก่อนเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับที่เข้มงวดน้อยลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ จะลดลงมาอยู่ที่ 4.75%, 4.0% และ 5.25% ณ สิ้นปี 67 ตามลำดับ
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก จะยังอยู่สูงกว่าระดับ Neutral rate เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางต่างๆ ที่ 2% ตลอดปี 67 โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศหลัก จะทยอยปรับลดลงเข้าสู่ Neutral rate ได้ในช่วงปี 68 หลังจากเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 66)
Tags: SCB EIC, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เงินเฟ้อ