SCB EIC คาดส่งออกไทย Q4/66 แนวโน้มโตต่อ ชี้สงครามอิสราเอลกระทบจำกัด แต่ภาพรวมทั้งปี -1.5%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดการส่งออกของไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยราคาสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นและปัจจัยฐานต่ำในไตรมาส 4 ของปี 66

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.ย. 66 อยู่ที่ 25,476.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.1%YOY ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน แต่ภาพรวมการส่งออกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 66 มีมูลค่า 213,069.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงหดตัวที่ -3.8%

อย่างไรก็ดี การเติบโตของการส่งออกช่วงท้ายปีจะไม่สามารถชดเชยภาพรวมการส่งออกตั้งแต่ต้นปีที่หดตัวแรงได้ ส่งผลให้ SCB EIC คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้า (ระบบดุลการชำระเงิน) ในปี 66 มีแนวโน้มหดตัว 1.5% แต่มีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้ 3.5% ในปี 67

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณการค้าโลกในปี 67 ที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ปัญหาห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายขึ้น รวมถึงปัจจัยราคาส่งออกที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และปัจจัยฐานต่ำในปี 2023

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกไทยมาจากนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่อาจตึงตัวมากกว่าคาดกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอลงมากกว่าคาด ภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วไทยที่อาจกระทบปริมาณการส่งออกแม้ทำให้ราคาสูงขึ้น รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะสงครามในอิสราเอลที่นับว่าเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ยังต้องจับตา

สงครามในอิสราเอลส่งผลกระทบต่อการค้าไทยจำกัด

SCB EIC คาดว่า ในกรณีฐานสงครามในอิสราเอลจะส่งผลกระทบต่อการค้าไทยจำกัด เนื่องจากอิสราเอลและไทยมีสัดส่วนการค้าระหว่างกันโดยตรงไม่มากนัก ขณะที่การค้าไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญ อีกทั้งไทยไม่ได้มีสินค้าส่งออกและนำเข้าที่พึ่งพาอิสราเอลและปาเลสไตน์มากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี หากสงครามขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น และยืดเยื้อขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกสินค้าของไทย ผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนของตลาดการเงินโลก

นอกจากนี้ สงครามที่รุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาจกระทบศักยภาพการส่งออกของไทยในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับซาอุดีอาระเบีย โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้านการค้ากับภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น เช่น

– การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน และโอมาน

– ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคได้แสดงความสนใจที่จะจัดทำ FTA หรือ CEPA กับไทยเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ภาครัฐยังตั้งเป้าให้ตลาดตะวันออกกลางเป็นฐานในการเข้าถึงตลาดส่งออกในภูมิภาคแอฟริกาต่อไปอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 66)

Tags: , , , , , ,