ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับเพิ่มประมาณการส่งออกไทยปี 67 เป็น 3.9% จากเดิม 2.6% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัย ดังนี้
1. เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกปี 67 ขยายตัวตามคาด เศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มขยายตัว 2.7% ตามประมาณการเดิม ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มเติบโตกว่าประมาณการเดิมขององค์การการค้าโลก (WTO) ใกล้เคียงอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลก แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) จะยังคงตัวเลขคาดการณ์ปริมาณการส่งออกเดิมไว้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่ทยอยลดลง ซึ่งช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในตลาดโลก
2. ข้อมูลจริงของการส่งออกไทยดีกว่าคาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือน ต.ค. ที่ขยายตัวมากถึง 14.6% สูงกว่าที่ตลาดคาด จากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น และวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ส่งผลให้มูลค่าส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 67 ขยายตัวถึง 4.9% (ตัวเลขระบบศุลกากร)
3. ในช่วงที่เหลือของปี 67 การส่งออกไทยมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และอุปสงค์ต่างประเทศที่อาจเร่งตัวขึ้น จากความกังวลว่าประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มปีหน้า ทำให้มีการเร่งซื้อสินค้าไว้ก่อน ประกอบกับปัจจัยฐานที่ค่อนข้างต่ำจากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 66
อย่างไรก็ตาม SCB EIC ปรับลดประมาณการส่งออกปี 68 เหลือ 2.0% (เดิม 2.8%) จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่
1. ปริมาณการค้าโลกปี 68 มีปัจจัยเสี่ยงด้านลบมากขึ้น โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับลดประมาณการปริมาณการค้าเหลือเพียง 3% จากเดิม 3.3% แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ยังคงคาดการณ์เดิม แต่ทั้ง 3 หน่วยงานต่างกังวลปัจจัยเสี่ยงปีหน้า เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายเศรษฐกิจไม่แน่นอน ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และ China-overcapacity ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะเข้มงวดขึ้น สะท้อนจากการประเมินล่าสุดของ WTO ที่แสดงปัจจัยเสี่ยงด้านบวกที่ลดลงมาก เทียบผลประเมินครั้งก่อน ขณะที่ปัจจัยด้านลบเพิ่มสูงขึ้น (ยังไม่รวมผลของนโยบาย Trump 2.0)
2. เศรษฐกิจโลกในปี 68 จะเผชิญความท้าทายจากนโยบาย Trump 2.0 ทำให้มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเหลือ 2.5% (เดิม 2.8%) เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญเกือบทุกประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่ำลง โดยเฉพาะจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ภายใต้สมมติฐาน SCB EIC ที่ประเมินว่า สหรัฐฯ จะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนเฉลี่ย 20% และสินค้าประเทศอื่นเฉลี่ย 10% ขณะที่ประเทศอื่นจะตอบโต้สหรัฐฯ กลับในอัตราภาษีเท่ากัน อีกทั้งยุโรปกับจีน จะขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันเฉลี่ย 10% (ทั้งนี้ การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจะแตกต่างกันระหว่างกลุ่มประเทศและประเภทสินค้า) กดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยตรง
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังจะดำเนินนโยบายกีดกันผู้อพยพ ซึ่งจะกระตุ้นให้ยุโรปดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ ประเทศต่าง ๆ จะทำการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากนโยบาย Trump 2.0
3. นโยบาย Trump 2.0 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสุทธิของไทย โดยประเมินการส่งออกสุทธิไทยจะลดลงจากจากกรณีที่ไม่มีนโยบาย Trump 2.0 ราว -0.4 ถึง -0.5% ในปี 68 เนื่องจาก
– สินค้าส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น เพราะไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ติดอันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมีสัดส่วน 17% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด
– การแข่งขันจากสินค้าจีนเพิ่มขึ้นจากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของ Trump 2.0 สินค้าจีนจะส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง นอกจากนี้ ปัญหา China-overcapacity ที่จะรุนแรงขึ้น จีนจะมุ่งเป้ามายังตลาดอื่นแทนรวมถึงไทย ทำให้ภาคการผลิตและภาคการส่งออกสินค้าไทยจะเผชิญการแข่งขันจากจีนมากขึ้นอีก
4. ปัจจัยฐานสูงของการส่งออกไทยปีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงเกิน 3.9% จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวการส่งออกไทยในปี 68 ชะลอลงจากปีนี้
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินมุมมองการส่งออกไทยปีนี้ ล่าสุด 3.9% (ข้อมูลระบบดุลการชำระเงิน) ณ 25 พ.ย. 67 ก่อนกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเดือนต.ค. สูงกว่าคาดการณ์ไว้มาก ทำให้มูลค่าการส่งออกปีนี้ จึงมีโอกาสขยายตัวสูงกว่า 4% ขณะที่ปัจจัยฐานสูงของปีนี้ อาจทำให้มูลค่าส่งออกปี 68 โตต่ำกว่า 2% ได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 67)
Tags: SCB EIC, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, ส่งออก, เศรษฐกิจโลก