SAMART แตกไลน์รุกพลังงาน-สิ่งแวดล้อมคาด M&A-JV ชัดต้นปี 68, ขยาย Direct Coding กลุ่มยา-อาหารเสริม

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธฺองค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทต่อยอดธุรกิจและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ผ่านบริษัท เทด้า จำกัด ในกลุ่ม SAMART ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy) และ Green Tech Ecosystem อาทิ โซลาร์รูฟท็อป คาร์บอนเครดิต เป็นต้น โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) และร่วมลงทุน (JV) ราว 4-5 บริษัท คาดว่าจะชัดเจนต้นปี 68

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายธุรกิจ Direct Coding หรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์ เข้าไปในกลุ่มสินค้าประเภทยา อาหารเสริม และ Wine จากปัจจุบันที่ได้ดำเนินการให้กับกรมสรรพาสามิตในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีในกลุ่มเบียร์ ที่ทำรายได้ 900 ล้านบาท/ปีให้กับ SAMART ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทจะต่อยอดไปเครื่องดื่มน้ำอัดลมในอนาคต

นายรัฐนันท์ วิไลลักษณ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจและนักลงทุนสัมพันธ์ SAMART กล่าวเสริมว่า งาน Direct Coding ในกลุ่มยา และอาหารเสริม อยู่ระหว่างเจรจากับองค์การอาหารและยา (อย.) คืบหน้าไปกว่า 50% แล้ว ซึ่งขณะนี้มีประเด็นของ “ดิ ไอคอน” ขึ้นมา ทำให้รัฐบาลต้องการเข้ามาดูแลสินค้าประเภทนี้ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นและดำเนินการให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะอาหารเสริม ส่วนยาบางประเภทพบการปลอมแปลงสูง โดยคาดว่าช่วงต้นปี 68 น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

*SAMART เชื่อมั่นปีนี้พลิกมีกำไร แม้รับรายได้โตไม่ถึงเป้า

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า จากการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มสามารถ เชื่อว่าผลประกอบการปี 67 จะพลิกมีกำไร จากปีก่อนขาดทุน 389.92 ล้านบาท แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกจะมีผลขาดทุนราว 128.62 ล้านบาท จากผลกระทบการตั้งประมาณการหนี้สินระยะยาวกรณีข้อพิพาทกับคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ (BAGOC) และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จำนวน 283 ล้านบาทในไตรมาส 2/67

และในช่วงครึ่งปีแรกรายได้ยังเติบโตได้ไม่มาก เพราะงบประมาณภาครัฐล่าช้า ทำให้ในปี 67 รายได้รวมอาจไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่าในปี 67 จะมีรายได้รวมราว 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าในไตรมาส 4/67 จะรับรู้รายได้และกำไรมากขึ้นกว่าทั้ง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา

ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในช่วงเดือน 9 เดือนที่ผ่านมาเป็นที่น่าพึงพอใจ ทุกสายธุรกิจมีทิศทางขาขึ้นและแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยในช่วง 9 เดือน มี Backlog ทั้งกลุ่มรวมเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะสายธุรกิจ ICT ที่มีผลงานโดดเด่นในไตรมาส 3 และคาดว่าในสิ้นปี 67 จะมี Backlog ทั้งกลุ่มรวมที่ 2 หมื่นล้านบาท

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีความพร้อมทั้งการบริหารงานและฐานะการเงินที่มั่นคง มีการออกหุ้นกู้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยขยายธุรกิจตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และมีการชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดตรงเวลามาโดยตลอด โดยการประกาศขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1 ได้รับความสนใจอย่างมาก มีผู้สนใจซื้อถึง 643 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 85%

ล่าสุด SAMART เตรียมออกหุ้นกู้ครั้งที่ 2 เป็นหุ้นกู้อายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 5.2% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งจะเปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 5-7 พ.ย.67 นี้ ทั้งนี้เพื่อจะนำเงินมาใช้คืนหุ้นกู้ที่จะหมดในต้นปีหน้าเดือนมกราคม จำนวน 1,675 ล้านบาท และเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทฯต่อไป

*SAV รอเซ็น MOU วิทยุการบินลาว Q4/67 รับรู้รายได้  Q2/68

นายรัฐนันท์ กล่าวว่า สำหรับ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ได้เดินหน้าโครงการบริหารจัดการวิทยุการบินที่ สปป.ลาว ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะเซ็นสัญญา MOU ได้ในไตรมาส 4/67 สัญญาระยะเวลา 30 ปี คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/68 โดยในช่วงปี 62 วิทยุการบิน สปป.ลาว มีรายได้ 120 ล้านเหรียญ/ปี เติบโตมากกว่าเท่าตัวของวิทยุการบินในกัมพูชา จะช่วยหนุนให้ SAV เติบโตไปด้วย

ขณะที่ธุรกิจด้านการให้บริการจัดการการจราจรทางอากาศในกัมพูชา ช่วง 9 เดือนแรกปี 67 มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 7-8% เป็นผลจากรัฐบาลกัมพูชาออกแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เกิดเส้นทางบินใหม่รวมถึงมีการลงทุนเปิดสายการบินไหม่แอร์เอเชียกัมพูชา ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สร้างโอกาสการท่องเที่ยวและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4/67 ที่เป็นช่วงไฮซีซั่น

*SAMTEL Q4/67 รับงานฉ่ำสุด ดัน Backlog สิ้นปี 67 เป็น 7.5 พันลบ.

ส่วน บมจ.สามารถเทเลคอม (SAMTEL) ไตรมาส 4/67 จะเป็นไตรมาสที่มีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่มากที่สุด มูลค่ารวมประมาณ 6,000 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงที่หน่วยงานต่าง ๆ เริ่มใช้งบประมาณเต็มที่ อาทิ โครงการ Core Banking, โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และอื่น ๆ

ทั้งปี 67 คาดว่า SAMTEL จะมีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่รวมประมาณ 7,500 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมาเซ็นสัญญาโครงการใหม่ไปแล้วกว่า 1,500 บาท อาทิ โครงการของการนิคมอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กรมที่ดิน เป็นต้น รวม Backlog ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท

*SDC ขาดทุนลดลง

นายรัฐนันท์ กล่าวต่อว่า ด้าน บมจ.สามารถ ดิจิตอล (SDC) ในปี 67 รับรู้รายได้จากค่าบริการ Airtime ตลอดทั้งปี ในโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล (Digital Trunked Radio System) ของโครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย (MOI) ประมาณ 317 ล้านบาท และล่าสุด SDC ได้รับการขยายอายุสัญญา 15 ปี จาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จึงเป็นการสร้างโอกาสในการขยายฐานผู้ใช้บริการ DTRS ในองค์กรสาธารณภัยซึ่งมีเครือข่ายทั่วประเทศ

“SDC เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปีตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 602 ล้านบาท และผลขาดทุนจะลดลง โดยไตรมาส 1 และ ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาขาดทุนลดลงค่อนข้างมาก เหลือหลักสิบล้าน”

ทั้งนี้ รายได้ของ SDC ส่วนใหญ่ กว่า 80% มาจาก Digital Trunked Radio และอีกกว่า 10% มาจากธุรกิจ Digital Content

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ต.ค. 67)

Tags: , , ,