SAFE เคาะราคา IPO หุ้นละ 21 บาท เปิดจอง 25-27 ต.ค.เทรดภายในเดือนนี้

บมจ.เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป (SAFE) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 21 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อตั้งแต่วันที่ 25-27 ต.ค.66 คาดนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในเดือนนี้ พร้อมแต่งตั้ง บล.บัวหลวง เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ และแต่งตั้ง บล.กรุงศรี บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

นางดาริน กาญจนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า SAFE จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 76,748,600 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25.25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ โดยการเสนอขายแบ่งเป็น 1. หุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนไม่เกิน 52,800,800 หุ้น 2. หุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 23,947,800 หุ้น

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ราคา IPO ดังกล่าวมีความเหมาะสม สะท้อนความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำรักษาผู้มีบุตรยากและด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและเวลเนสในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ SAFE มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนนั้น ใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต รวมถึงเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการขยายสาขา และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

นพ.วิวัฒน์ กว้างคณานุรักษ์ แพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAFE เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการคลินิกการแพทย์เฉพาะทางเพื่อการมีบุตร ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์แบบครบวงจรในไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านการเจริญพันธุ์ในระดับสากล และได้รับการรับรองมาตรฐานคลินิกเด็กหลอดแก้วจากสถาบัน RTAC จากประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ให้บริการตั้งแต่ให้คำแนะนำ คำปรึกษา ตลอดจนให้การรักษาแก่ผู้มีบุตรยากและการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแบบพิเศษ การแช่แข็งไข่ ฝากไข่ อสุจิ และตัวอ่อน เพื่อโอกาสในการเติมเต็มความฝันของการมีบุตรในอนาคต

นอกจากนี้กลุ่มบริษัทฯ ยังเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยให้บริการแก่ผู้มีบุตรยากมากกว่า 15 ปี มีสถิติในการเก็บไข่ตั้งแต่ปี 2561 ถึงไตรมาสที่ 2/2566 กว่า 7,236 รอบ (OPU Cycle) ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เช่น การนำเทคโนโลยีคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนทั้ง 24 โครโมโซมด้วยเทคนิค PGT-A มาใช้เป็นแห่งแรกในไทย เป็นต้น รวมทั้งแพทย์และและบุคลากรของกลุ่มบริษัทฯ มีความชำนาญและประสบการณ์เฉลี่ยมากกว่า 15 ปี รวมถึงมีนักวิทยาศาสตร์ของเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากยุโรป (ESHRE) เป็นแห่งแรกของไทย จึงมีอัตราความสำเร็จการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 75

กลุ่มบริษัทฯ ให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธีปฏิสนธิแบบเจาะจง (ICSI) ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน และวิธีฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) การย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก บริการแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ไข่ อสุจิ และตัวอ่อน รวมถึงการเก็บอสุจิและคัดอสุจิด้วยวิธีที่ทันสมัย โดยให้บริการผ่านสาขาทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ สาขาอัมรินทร์ พลาซ่า, รามอินทรา, ภูเก็ต ขอนแก่นและศรีราชา มีสัดส่วนลูกค้าชาวไทยร้อยละ 54 และต่างชาติร้อยละ 46

ปัจจุบัน บริษัทดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 99.99 และร้อยละ 80 ตามลำดับ ได้แก่ บริษัท เน็ก เจนเนอร์เรชั่น จีโนมิค จำกัด (NGG) ดำเนินธุรกิจด้านการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและทารกในครรภ์และการให้บริการ

ด้านห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์ต่าง ๆ และ บริษัท เซฟ เวลเนส จำกัด (SWC) ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านผิวหนังและความงามภายใต้ชื่อ “เดอะฟาวเทน เวลเนส เซ็นเตอร์” อย่างครบวงจรตั้งแต่ก่อนและหลังคลอดบุตร

ประธานเจ้าหน้าที่ SAFE กล่าวต่อว่า SAFE วางกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ผู้นำด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากและด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและเวลเนสในระดับเอเชีย ได้แก่ 1. การขยายศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรและห้องปฏิบัติการเจริญพันธุ์ ไปยังโรงพยาบาลพันธมิตรที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ภายในสถานพยาบาลคู่ค้า ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทั้งในรูปแบบพันธมิตรทางการค้า การร่วมลงทุน รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ 2. เลือกใช้เทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรในการให้บริการ 3. สื่อสารและสร้างแบรนด์ “SAFE FERTILITY” ในฐานะผู้นำทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากและด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนในเอเชียในเชิงรุกมากขึ้น เช่น ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปยังผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ, การทำตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เป็นต้น 4. ขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มรายได้และผลกำไร

นางชนิดา พัธโนทัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีการเงิน กล่าวว่า แม้ในช่วงที่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดโรคระบาด COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกแต่กลุ่มบริษัทฯ ก็สามารถรักษาการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีรายได้รวมในปี 2563-2565 เท่ากับ 529.77 ล้านบาท 561.96 ล้านบาท 729.32 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 42.16 ล้านบาท 78.23 ล้านบาท 161.73 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนงวด 6 เดือนแรกปี 2566 มีรายได้รวม 409.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 87.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.52 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 66)

Tags: , , ,