บมจ.เอสเอเอเอ็ม ดีเวลลอปเมนท์ [SAAM] เปิดกลยุทธ์สำคัญเข้าสู่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเป็นทางการ ด้วยบทบาทผู้ให้บริการเพิ่มสภาพคล่อง (Liquidity Provider) ให้กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จ่อออกหุ้นกู้แปลงสภาพวงเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวประมาณ 360 ล้านบาทรองรับแผนการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างยั่งยืน
นายพดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAAM กล่าวว่า การเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่เพียงแค่การถือครองเหรียญเพื่อเก็งกำไร แต่เป็นการขยับเข้าสู่โมเดลธุรกิจใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ระยะยาว ด้วยการสร้างระบบในการเพิ่มสภาพคล่องและบริการพื้นฐานที่จำเป็นเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ในช่วงเวลาที่บริษัทไทยหลายแห่งยังชั่งใจกับการเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัล แต่SAAM กลับเดินหน้าเต็มที่ และไม่ได้มองเพียงแค่การลงทุนในคริปโทฯ แต่ก้าวสู่บทบาทการเป็นผู้วางโครงสร้างระบบที่รองรับการเติบโตของตลาดทุนแบบใหม่
“เราไม่ได้เข้ามาเพื่อถือเหรียญ แต่กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยที่จะช่วยให้ตลาดเติบโต และมีรายได้กลับคืนมาอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ต่างจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า หรือท่อส่งน้ำ ในโลกจริง มุ่งสู่การเป็น Microstrategy of Thailand” นายพดด้วง กล่าว
ผู้ให้บริการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (Liquidity Provider) คือผู้ที่วางสินทรัพย์ ทั้งคริปโทฯ และเงินบาทไว้ทั้งสองฝั่งของการเทรดในกระดานซื้อขาย โดยมีโมเดลรายได้ที่มาจากส่วนต่างของราคาซื้อขาย (Spread) ซึ่งเมื่อมีผู้ซื้อและขาย ผู้ให้บริการเพิ่มสภาพคล่องจะได้ส่วนต่างของราคาในแต่ละกระดานเทรด เมื่อราคาของคริปโทฯ ในหลายกระดานมีค่าแตกต่างกัน ผู้ให้บริการเสริมสภาพคล่องสามารถซื้อในที่ที่ราคาถูกและขายในที่ที่แพงกว่าได้ผ่านระบบอัตโนมัติ และได้ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากกระดานเทรด
มูลค่าการเทรดที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยที่ SAAM สามารถให้บริการได้นั้นมีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านบาท/วัน และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเบื้องหลังการขับเคลื่อนกลยุทธ์นี้ SAAM ไม่ได้เดินเดี่ยว แต่จับมือกับพันธมิตรสำคัญอย่าง นายปรมินทร์ อินโสม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นากาโมโตะ แล็บส์ จำกัด บริษัทย่อยของ SAAM เป็นผู้ก่อตั้ง Satang pro ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างบล็อคเชน และร่วมลงทุนเกือบ 100 ล้านบาทใน FWX แพลตฟอร์ม DeFi ที่มีเทคโนโลยี AI สำหรับการบริหารความเสี่ยง และเทรดแบบไร้ตัวกลาง
“ธุรกิจของ SAAM วางแผนจะก้าวสู่ธุรกิจดิจิทัลแบบเต็มตัว โดยธุรกิจ Liquidity Provider จะเริ่มให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 2/68 เป็นต้นไป โดยที่จะเข้าไปให้บริการกับแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอเรนซี (Exchange) 2 รายในประเทศก่อน คือ Bitkub และ Binance Thai ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด (Market share) รวมกันสัดส่วน 90% ของมูลค่าซื้อขายรวมในตลาด” นายพดด้วง กล่าว
ทั้งนี้ SAAM เตรียมออกหุ้นกู้แปลงสภาพ วงเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 360 ล้านบาท แบบไม่มีดอกเบี้ย เพื่อรองรับแผนการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุน 2 รายทั้งในและต่างประเทศสนใจเข้าลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าว
“การออกหุ้นกู้แปลงสภาพครั้งนี้ไม่ใช่แค่การระดมทุน แต่คือจุดเริ่มต้นของโครงสร้างใหม่ ที่เปิดให้ทั้งนักลงทุนและพันธมิตรระดับสถาบันเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเงินดิจิทัลที่ยั่งยืน”นายปรมินทร์ กล่าว
สำหรับจิ๊กซอว์สำคัญ คือ FWX แพลตฟอร์ม DeFi ที่พัฒนาเครื่องมือเทรดโดยใช้ AI เพื่อสร้างความคล่องตัวให้กับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลแบบไร้ตัวกลาง ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนสถาบันสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเผชิญความซับซ้อนทางเทคนิค พร้อมยกระดับระบบ Liquidity Provision และ Digital Asset Market Making ให้แข็งแรง และต่อเนื่องในระดับโครงสร้าง
นายพดด้วง คาดว่า ธุรกิจดิจิทัลจะสร้างรายได้เข้ามาต่อปีราว 300 ล้านบาท/ปีให้กับ SAAM ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจดิจิทัลเพิ่มเป็นมากกว่า 50% ภายในปี 68 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้ง 100% โดยบริษัทเตรียมจะขอเปลี่ยนหมวดธุรกิจไปสู่ธุรกิจบริการในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ จากปัจจุบันที่อยู่ในหมวดทรัพยากรของตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 68)

Tags: SAAM, พดด้วง คงคามี, หุ้นกู้, หุ้นไทย, เอสเอเอเอ็ม ดีเวลลอปเมนท์